xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาระบบสารสนเทศอาหาร - โภชนาการ กำหนดนโยบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมช.สธ. ชี้ ไทยต้องการข้อมูลวิชาการด้านอาหาร นำมาใช้กำหนดนโยบาย ระบุทุกภาคส่วนต้อง “เร่งยกเครื่อง” ระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 3 เรื่อง “ระบบสารสนเทศเพื่อนโยบายอาหารและโภชนาการ” จัดโดยแผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การมีข้อมูลหลักฐานเชิงวิชาการที่เชื่อถือได้และตอบโจทย์ความต้องการในเชิงนโยบาย เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้การดำเนินนโยบายประสบผลสำเร็จ ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของระบบสารสนเทศ ถึงแม้ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงานที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์อาหารทั้งในด้านอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) แต่ยังต้องการการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ในกระบวนการนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านอาหารและโภชนาการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความคุ้มค่าในการลงทุน การประชุมนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้เข้าร่วมทุกคนที่จะได้ร่วมกันรับรู้และทบทวนสถานการณ์ฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแสวงหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือและการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านอาหารและโภชนาการเพื่อเป็นกรอบในการต่อยอดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของระบบสารสนเทศต่อไปในอนาคตของประเทศไทย

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโส รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ระบบข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการจะต้องตอบสนองต่อเป้าหมาย และตัวชี้วัดของนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ต้องเป็นข้อมูลที่ได้จากวิธีการเก็บข้อมูลที่ได้มาตรฐานมีเจ้าภาพที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ผ่านการกลั่นกรอง และการประมวลผลด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือที่เรียกว่า “ข้อมูลสารสนเทศ” จากการทบทวนเบื้องต้น พบว่า ระบบสารสนเทศด้านอาหารและโภชนาการยังมีส่วนขาดที่ต้องการการพัฒนาและต้องการการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องออกแบบระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ หาแนวทางในการพัฒนาที่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกัน และการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อสร้างรากฐานที่ดีของกระบวนการนโยบาย

ศ.บอยด์ สวินเบิร์น (Prof. Boyd Swinburn) อาจารย์ประจำด้านการโภชนาการและสุขภาพระดับโลกจากมหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ข้อคิดสำคัญที่ได้จากประสบการณ์การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาโรคอ้วนในระดับโลกมาหลายสิบปีว่า การมีข้อมูลสารสนเทศที่สมบูรณ์พร้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นโยบายการจัดการโรคอ้วนเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล ซึ่งนอกเหนือจากการประเมินติดตามภาวะโภชนาการของประชาชนแล้ว ควรจะมีการประเมินติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่มีผลต่อโรคอ้วน และประเมินการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้มีข้อมูลที่จำเป็นต่อการจัดการปัญหาโรคอ้วนที่ครบถ้วนต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น