xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ธุรกิจยาสูบหวังแทรกแซง สนช.ล้ม กม.คุมบุหรี่ฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รัชตะ” มั่นใจร่าง กม. คุมยาสูบฉบับใหม่ทันใช้ในรัฐบาล “บิ๊กตู่” ด้าน “หมอประกิต” แฉธุรกิจยาสูบพยายามแทรกแซง สนช. หวังล้มกฎหมาย ให้ข้อมูลเท็จกีดกันทางการค้า ยันไม่กีดกัน แต่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 เรื่อง “หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า นางมาร์กาเรต ชาน ผอ.องค์การอนามัยโลก ส่งสารเป็นห่วงอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย โดยเฉพาะผู้ชายที่สูบมากถึง 11.4 ล้านคน ขณะที่มีเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนคน ซึ่งเมื่อสูบแล้วจะไม่สามารถเลิกได้ถึงร้อยละ 70 และจะสูบไปจนกว่าจะป่วยหรือเสียชีวิต รัฐบาลจึงต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเหลือการพิจารณาอีก 3 วาระก่อนเสนอกลับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าและประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจยาสูบมีความพยายามในการคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ให้ประกาศใช้ ทั้งพยายามขอเข้าพบสมาชิก สนช. หลายคน แต่ไม่ได้รับการอนุญาต การออกมาให้ข้อมูลว่าร่าง พ.ร.บ. นี้ จะกีดกันทางการค้า กระทบต่อผู้ค้าปลีก แต่กลับไม่พูดว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบุหรี่ได้กำไรจากการขายบุหรี่ในไทยถึงปีละ 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่กีดกันทางการค้า หรือสร้างความเหลื่อมล้ำ แต่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำมากกว่า เพราะคนที่สูบบุหรี่มาก ๆ สุดท้ายก็เจ็บป่วย และยากจนลง เพราะหมดเงิน ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยต้องการจำกัดไม่ให้เกิน 11 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์แนวโน้มการลดลงของผู้สูบบุหรี่ไทยที่ผ่านมา และคาดการณ์ต่อไปในอนาคต พบว่า ในปี 2568 จำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดลงเล็กน้อยจาก 11.4 ล้านคน เหลือประมาณ 10.5 ล้านคน เพราะจำนวนประชากรวัย 15 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 55 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนลง โดยต้องไม่ให้เกินปีละ 11 ล้านคน

ผศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจัดทำขึ้นตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ (FCTC) ซึ่งไทยเป็นภาคี โดยในสนธิสัญญามีผลผูกพันให้รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม ส่วนการออกมาตรการต่าง ๆ นั้น รัฐสามารถเลือกกำหนดได้ตามแนวทางที่กรอบอนุสัญญากำหนด แต่มาตรการนั้น ๆ ต้องจำเป็นจริง ๆ ซึ่งกรณีร่างพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯมีความจำเป็น ดังนั้น ไทยปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาทุกอย่าง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น