xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” ชี้ดูแลสุขภาพ อย่ายึดลัทธิวิชาชีพ ยึด ปชช.เป็นที่ตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอประเวศ” ชี้ ดูแลสุขภาพประชาชน อย่ายึดลัทธิวิชาชีพ หมอเท่านั้นถึงรักษาได้ แนะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ยกทหารเสนารักษ์ เป็นผู้ช่วยแพทย์ หมดประจำการก็ช่วยดูแลประชาชนได้

วันนี้ (5 ส.ค.) นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพตนเองสู่สุขภาพชุมชน” ในงานมหกรรมวิชาการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ปี 2558 “หมอครอบครัว ประชาชนอุ่นใจ มีญาติทั่วไทยเป็นทีมหมอครอบครัว” ว่า โครงสร้างที่มั่นคง ฐานรองรับจะต้องกว้างและแข็งแรงเช่นเดียวกับเจดีย์ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาเพราะเน้นการสร้างจากยอดเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมือง แต่ด้านระบบสุขภาพมีการพัฒนาระบบปฐมภูมิที่เป็นฐานระบบสุขภาพมาช้านาน ทำให้ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ทั่วถึงที่สุด มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทุกตำบล และมี อสม. ล้านคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ เน้นการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ที่ฐานของระบบสุขภาพและหมอครอบครัวก็อยู่ในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงที่สุด คือ การนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยต้องดูว่าประชาชนอยู่ที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ชุมชน และจะทำอย่างไรให้การบริการไปถึงประชาชน และต้องไม่ยึดมั่นจำกัดการให้บริการเฉพาะสถาบันหรือวิชาชีพ

ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะย้อนหลังหลายสิบปี วงการแพทย์ไทยสอนประชาชนว่าเป็นอะไรอย่ารักษาตัวเองก่อน ให้ไปหาแพทย์ หนังสือสุขศึกษาที่สอนนักเรียนทั้งประเทศก็เขียนอย่างนี้ ส่วนการดีเบตว่าคนที่ไม่ใช่แพทย์สามารถรักษาได้หรือไม่ เช่น พยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย และพนักงานผดุงครรภ์ ได้ใช้เวลา 10 ปี เพื่อโต้เถียงกันเรื่องนี้ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ต่างเป็นปัญหา ที่เป็นเช่นนี้เพราะยึดถือสถาบันเป็นที่ตั้ง ถือลัทธิวิชาชีพเป็นหลัก โดยในระบบบริการสุขภาพควรยึดถือประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะเรามีประชาชนที่อยู่ห่างไกล และจำเป็นต้องเข้าถึงบริการ หากยึดเพียงใบประกอบวิชาชีพ ผู้ป่วยในพื้นที่เหล่านั้นอาจตายได้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้แต่กองทัพเองก็ยังช่วยผลิตผู้ช่วยแพทย์โดยเป็นทหารเสนารักษ์ ซึ่งหลังหมดประจำการคนเหล่านี้ก็ดูแลสุขภาพประชาชนได้” ราษฎรอาวุโส กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ส่วนลักษณะของหมอครอบครัวจะต้องมีคุณสมบัติ มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ใส่ใจการดูแลคนไข้และญาติ ซึ่งเป็นสิ่งขาดไปในโรงพยาบาลระดับสูง โดยหมอครอบครัวจะเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลดุจญาติและครอบครัว ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจผู้ป่วย มีส่วนทำให้โรคหายง่าย มีความรู้รอบตัว ในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึงเชิงตะกอน ทำหน้าที่บูรณาการและเชื่อมต่อระบบสุขภาพชุมชน หน่วยระดับต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของหมอครอบครัว และทุกคนควรมีจิตวิญญาณความเป็นหมอครอบครัว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น