xs
xsm
sm
md
lg

สธ.อำเภอภูเก็ต-รพ.สต.วิชิต ใช้พลัง “หมอครอบครัว” ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภาพสังคมของอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่เขตเมือง แต่ความแตกต่างของเมืองภูเก็ต กับพื้นที่อื่นๆ คือ จำนวนประชากรแฝงที่มาทำงานและพักพิงอยู่นั้น สูงกว่าจำนวนประชากรที่แท้จริงตามทะเบียนราษฎรมากกว่า 2 - 3 เท่าตัว ส่งผลต่อการให้บริการและดูแลในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำงานของหมอครอบครัว มีความสำคัญอย่างมากต่อการดูแลทุกคนในชุมชน เพราะเราต้องรู้ว่าเราอยู่ในการดูแลหมอคนใด มีปัญหาปรึกษาใครได้ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเกิดสภาวะประชากรล้นเกินเกณฑ์ อาทิ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลประชากร 1,250 คนกลายเป็นว่าเรามีประชากรเป็น10,000 คน”นายผดุงเกียรติ อุทกเสนีย์ สาธารณสุขอำเภอเมืองภูเก็ต สะท้อนภาพ

เพื่อให้การสนับสนุนงานของทีมหมอครอบครัวมีคุณภาพ นายผดุงเกียรติ กล่าวว่า การทำงานเชิงนโยบายจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับตำบล และ ชุมชน ที่จะต้องวางแผนการทำงานให้เกิดความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากสภาพสังคมที่เราประสบจึงนำมาสู่การจัดกลุ่มผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กลุ่มผู้ป่วยประคับประคอง มีการเจ็บป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของโรค และกลุ่มพิการช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูและดูแล จึงนำสู่การจัดโครงสร้างทีมหมอครอบครัว ที่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน โดยได้มีการจัดอบรมพัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยในเบื้องต้น ขณะเดียวกัน ได้มีการวางระบบการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ โดยทางสาธารณสุข อ.ภูเก็ต ได้มีการจัดทำกรุ๊ปไลน์ของทีมหมอครอบครัวแต่ละทีม เพื่อใช้พูดคุยสอบถามหากมีข้อสงสัยในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงต้องมีเบอร์โทรศัพท์ไว้ติดต่อยามฉุกเฉินด้วย เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือผู้ป่วยรวมถึงส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนงบประมาณ และบุคลากรด้วย

ขณะเดียวกัน จะมีการกำกับติดตามการทำงานของทีมหมอครอบครัวด้วย โดยจะมีวิธีตรวจสอบเป็นลำดับตั้งแต่ให้ รพ.สต. จัดทำรายงานส่งทุกเดือน นัดประชุมทุกเดือน และทีมจากสาธารณสุขอำเภอลงไปสุ่มตรวจสอบว่าเป็นไปอย่างที่ได้รับรายงานหรือไม่ เป้าหมายสำคัญไม่ใช่จับผิดแต่เพื่อให้รู้ว่าการทำงานของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งแต่ละแห่งมีประสบการณ์ทำงานแตกต่างกันก็จะมีการจัดเวทีให้แต่ละแห่งได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียง รพ.สต. ที่ถูกกำกับติดตาม แม้แต่การทำงานเรื่องดังกล่าวของสาธารณสุขอำเภอก็จะถูกกำกับติดตามโดย สธ. จังหวัด อีกทอดหนึ่งเช่นกัน

“การดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ หรือ อสม. สำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องดูแลตัวเองได้และรู้วิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกแรงหนุนที่จะช่วยให้การพัฒนางานดูแลสุขภาพชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับนโยบายของ อปท.ด้วยว่าให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านใด อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า รพ.สต. หลายแห่งในความรับผิดชอบของสาธารณสุข อ.ภูเก็ต ดำเนินการได้ดี โดยเฉพาะทีมหมอครอบครัวของ รพ.สต.วิชิต เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพราะมีความเข้มแข็งตั้งแต่หัวหน้าทีมไปจนถึงเจ้าหน้าที่ รพ.สต. และ อสม. ที่เป็นเครือข่ายนายผดุงเกียรติ กล่าว

ด้าน นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล แพทย์เฉพาะทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ในฐานะหัวหน้าทีมหมอครอบครัว รพ.สต.วิชิต กล่าวว่า ก่อนหน้าจะมีนโยบายหมอครอบครัวนั้น ตนได้รับมอบหมายจาก รพ.วชิระภูเก็ต และ รพ.สต.วิชิต ได้มีการลงพื้นที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในชุมชนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการฟอร์มทีมหมอครอบครัว ทำให้การลงพื้นที่ทำงานง่ายขึ้นและเข้มข้นมากขึ้น เพราะจะมีทีมสหวิชาชีพที่ไม่ได้มีแค่หมอใหญ่ พยาบาล หรือ อสม. เหมือนเดิมแต่จะมีทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพ สลับหมุนเวียนร่วมทีมลงไปยังชุมชน ทำให้เราทราบอาการของผู้ป่วยได้ชัดเจน วินิจฉัยโรคและรักษาได้ตรงจุด แนะวิธีปรับการดูแลได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ชุมชนตำบลวิชิตมีวัฒนธรรมเป็นสังคมเมืองที่ลูกหลานต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน จึงเกิดข้อจำกัดเรื่องการดูแลผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเตียง เพราะผู้ป่วยลักษณะนี้จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา หรือบางครั้งก็ไม่สะดวกจะพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนั้น ทำให้บางบ้านก็ต้องลาออกจากงานเพื่อคอยดูแล นั่นเท่ากับว่าเราต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลมากถึง 2 คน หรือมากกว่านั้นในบางครอบครัว ซึ่งประชากรในชุมชนประมาณ 1,200 คน ป่วยเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง 400 คน และผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเป็นผู้สูงอายุ 40 คน ที่แม้หากเปรียบเทียบกับตัวเลขทั้งประเทศอาจไม่ใช่สัดส่วนที่มาก แต่ถ้ามองในแง่ชุมชนถือเป็นตัวเลขที่สูงและเป็นเป้าหมายสำคัญที่ รพ.สต.วิชิต ต้องดูแล

“เราต้องตระหนักว่าในข้อจำกัดของชุมชน นั่นหมายถึงเวลาราชการอาจไม่ใช่เวลาของราษฎร ทำให้เราต้องมาคิดวางระบบการทำงานให้เกิดความยืดหยุ่น เช่น สัปดาห์นี้จะลงพื้นที่ชุมชนแต่เรารู้ว่าผู้ป่วยบ้านนี้มีนัดกับหมอที่โรงพยาบาล เราก็ปรับแผนเพิ่มลิสต์ไปตรวจเยี่ยมที่บ้านผู้ป่วยรายนี้อีกหลัง เท่ากับว่า วันรุ่นขึ้นผู้ป่วยและลูกหลานไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาลอีก เป็นต้น ขณะเดียวกัน บุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงก็คือ อสม. และผู้ได้รับการอบรมเป็นแคร์กีฟเวอร์ ซึ่งบางคนก็เป็นลูกหลานของผู้ป่วยเอง”นพ.เลอศักดิ์ กล่าว

ไม่ใช่แค่กลุ่มติดบ้านเท่านั้นที่ต้องดูแล นพ.เลอศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สต.วิชิต ก็มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 20 ราย เป็นความเสี่ยงจากพฤติกรรมการดูแลตนเองและจากสภาพร่างกาย ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจส่งผลต่อสุขภาพผู้ป่วยระยะยาว นอกจากนี้ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของตำบลวิชิต นับถือศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นเมื่อถึงช่วงเดือนรอมฎอน หรือ ถือศีลอดทุกคนจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งทางทีมหมอครอบครัวก็มีการปรับรูปแบบการให้บริการ โดยเฉพาะรายที่ป่วยโรคเบาหวาน จะมีการแนะนำอาหารที่เหมาะสมกับโรค และมีการนัดตรวจถี่ขึ้นจากเดิมเดือนละ 2 ครั้งเป็นนัดตรวจทุกสัปดาห์

“ตลอดการทำงานนับแต่เริ่มต้นจนมาเป็นทีมหมอครอบครัว รพ.สต.วิชิต สามารถทำงานได้เข้มแข็งเพื่อดูแลสุขภาพของทุกคนในชุมชนซึ่งการทำงานดังกล่าว ต้องอาศัยกำลังใจ ความทุ่มเท เสียสละ ซึ่งทีม อสม. และแคร์กีฟเวอร์ ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ แต่สิ่งที่เราไม่ลืมทำควบคู่กันไป คือ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สามารถดูแลตนเองได้ยั่งยืน”หัวหน้าทีมหมอครอบครัว กล่าว

เป็นอีกภาพของการขับเคลื่อนการทำงาน “หมอครอบครัว” ด้วยความตั้งใจเพื่อเป้าหมายให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเข้าถึงสิทธิการรักษา ได้รับการดูแลต่อเนื่องซึ่งหากทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เชื่อว่าเป้าหมายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่กำหนดให้ปี 2558 ต้องสร้างทีมหมอครอบครับให้ได้ 3 หมื่นทีม เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลประชากรใน 10 ล้านครัวเรือน น่าจะไม่ไกลเกินฝัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น