xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จับมือ รพ.จันทรุเบกษาเดินหน้าป้องกันโรคทหารอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. ร่วมมือ รพ.จันทรุเบกษา กรมแพทย์ทหารอากาศ เดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบุคลากรกองทัพอากาศและประชาชนในพื้นที่ พร้อมเผยผลสำเร็จความร่วมมือการพัฒนาเครือข่ายรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่เข้าร่วมกับ สปสช. ตั้งแต่ปี 2549 โดยเป็นหน่วยตติยภูมิเฉพาะด้านโรคหัวใจ รองรับการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ

วันนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงพยาบาลจันทรุเบกษา กรมแพทย์ทหารอากาศ นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. ได้หารือกับ พล.อ.ต.นพ.กัมปนาท วีรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจันทรุเบกษา และคณะ ถึงแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ และการสร้างเครือข่ายการรักษาพยาบาลโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งได้ร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

พล.อ.ต.นพ.กัมปนาท วีรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจันทรุเบกษา กล่าวว่า โรงเรียนการบินกำแพงแสน เป็นหน่วยงานสำคัญที่ผลิตนักบินของกองทัพอากาศ โรงพยาบาลจันทรุเบกษาเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบดูแลสุขภาพของบุคลากรในโรงเรียนการบินกำแพงแสน และมีส่วนดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 เป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการ มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นสิทธิประกันสังคมและจ่ายเงินเอง

พล.อ.ต.นพ.กัมปนาท กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลจันทรุเบกษามิได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านการรักษา แต่ยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพให้กับบุคลากรกองทัพอากาศและประชาชนทั่วไป โดยมีแนวคิดว่าหากมีการดูแลตนเองในเรื่องพฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย จะลดอัตราการเป็นโรค ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ และในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหากมีการประเมินความเสี่ยงและมีการตรวจค้นหาเร็วก็จะทำให้ได้รับการรักษาเร็ว ไม่เกิดภาวะโรคเรื้อรังที่ควบคุมไม่ได้จนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน จึงขอความร่วมมือจาก สปสช.เพื่อดำเนินการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สปสช. ยินดีที่จะร่วมมือสร้างสุขภาพและป้องกันโรคกันกับโรงพยาบาลจันทรุเบกษา อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เริ่มต้นทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2549 หากมีโครงการหรืองานวิจัยที่ทางโรงพยาบาลต้องการจะจัดทำ เพื่อให้คนไทยทราบถึงความสำคัญของการคัดกรอง และเข้าถึงการคัดกรองความเสี่ยง ทาง สปสช. ก็พร้อมจะสนับสนุนเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกันเหมือนที่เคยเป็นมา

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจันทรุเบกษา มีความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชทำให้มีแพทย์เฉพาะทางประจำครบเกือบทุกสาขา ในปี พ.ศ. 2549 สปสช. จึงได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นหน่วยบริการตติยภูมิเฉพาะด้านโรคหัวใจ ระดับที่ 4 ได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ด้านโรคหัวใจจาก สปสช. เช่น เครื่องวิ่งสายพานตรวจหัวใจ เตียง และเครื่องมอนิเตอร์สำหรับหอผู้ป่วยหนัก และเครื่องตรวจคลื่นหัวใจระบบดิจิตอลที่สามารถส่งผลให้แพทย์ทางระบบอินเทอร์เน็ตได้เลย ซึ่งนับว่าเป็นคุณูปการต่อการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ โรงพยาบาลจันทรุเบกษายังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายบริการโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. เขต 5 ราชบุรี


กำลังโหลดความคิดเห็น