ภาคประชาชนออกแถลงการณ์หวั่น กม. คุมเหล้า 300 เมตรแท้ง ตั้งข้อสังเกต “บิ๊กตู่” ลงนาม แต่ถูกชะลอไม่ประกาศใช้ อัดธุรกิจทุนน้ำเมาจ้องล้ม แนะมาตรา 44 คุมขายเหล้าต้องทำให้ยั่งยืน กำหนดขอบเขตการพิจารณาชัดเจน ชี้ ควรแก้ไข พ.ร.บ. สถานบริการ -พ.ร.บ. สุรา
วันนี้ (2 ส.ค.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายงดเหล้า 77 จังหวัด เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์รู้ทันแอลกอฮอล์ ได้ออกแถลงการณ์ทวงถามความคืบหน้ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัย และอาชีวะ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงนามไปแล้ว แต่ยังไม่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงไม่มีผลบังคับใช้
นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความห่วงใยปัญหาอบายมุขที่รุกล้ำเข้าใกล้สถานศึกษา สร้างปัญหากับเยาวชน โดยออกคำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถและควบคุมสถานบริการ โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมอย่างเข้มข้น รวมถึงเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลย และเพิ่มบทลงโทษในการเพิกถอนใบอนุญาต 5 ปี ไปจนถึงปิดกิจการถาวร ตลอดจนการกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาทุกประเภทและหอพัก ถือเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนกล้าลงมืออย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ การใช้ดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา และหอพักที่ไม่ระบุให้ชัดเจน ทั้งไม่กำหนดระยะว่าแค่ไหนที่ตีความว่าใกล้เคียง และไม่กำหนดขอบเขตว่าสถานที่ไหนสร้างปัญหาให้แก่นักเรียนนักศึกษา เกรงว่า จะกลายเป็นจุดอ่อนของการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ ซึ่งต่างจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา(ระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา) ที่กำหนดระยะห่างจากรั้วสถานศึกษาไว้ชัดเจนที่ 300 เมตรครอบคลุมร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท
“ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศฉบับนี้แล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้หลังประกาศ 30 วัน แต่จากกระแสข่าวชะลอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้เครือข่ายฯเกิดความกังวล จึงวอนขอให้ คสช. และรัฐบาลหารือแนวทางการออกกฎหมายเพื่อมาหนุนเสริมหนุนกัน ไม่ควรยกเลิกมาตรการ 300 เมตร หรือหากจะปรับเปลี่ยนก็ควรพิจารณาเรื่องระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย หรือผ่อนผันจาก 30 วัน เป็นหกเดือนหรือหนึ่งปี เป็นต้น สำหรับคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ควรให้เป็นไปเพื่อความยั่งยืน และไม่เกิดข้อขัดแย้งในทางปฏิบัติ โดยกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ด้วยการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด โดยเฉพาะสถานศึกษาและชุมชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดรูปแบบ ระยะทางแค่ไหน แต่ทั้งนี้ไม่ควรให้มีการอนุญาตขายเหล้าในรัศมี 300 เมตร โดยใช้แนวคิดที่ว่า ใน 300 เมตร ร้านใหม่ไม่เพิ่ม ร้านเดิมต้องทำตามกฎหมาย ในระยะเวลาผ่อนผัน เมื่อครบกำหนดต้องปลอดขายเหล้าทันที” นายชูวิทย์ กล่าว
นายชูวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาล และ คสช. ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. สถานบริการ และ พ.ร.บ. สุรา ที่ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้นำไปรวมไว้ในร่างประมวลกฎหมายสรรพสามิต ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีกลไกที่สอดคล้องกับคำสั่ง คสช. และประกาศห้ามจำหน่าย 300 เมตร รอบมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลจะยืนยันในหลักการ ไม่ยุติมาตรการ 300 เมตร และขอตั้งข้อสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะทราบมาว่ากลุ่มธุรกิจ และทุนน้ำเมาที่เสียผลประโยชน์พยายามทุกวิถีทางเพื่อหยุดกฎหมายฉบับนี้ ทำให้กฎหมายไม่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นคือ การทำแท้งหรือไม่ ทั้งที่นิด้าโพล พบว่า มีประชาชนกว่า 90% เห็นด้วย ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นความสำเร็จของนายทุนน้ำเมา แต่สร้างความเสียหายให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนที่อยู่รอบ ๆ สถานศึกษา คงเป็นเรื่องแปลกและถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีลงนามเห็นชอบแล้วแต่ประกาศเป็นกฎหมายไม่ได้ รัฐบาลคงอธิบายได้ยาก ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเจตนารมณ์ในการปกป้องลูกหลานและเยาวชนไทย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่