xs
xsm
sm
md
lg

เปิบเห็ดพิษป่วยแล้ว 337 ราย ตาย 1 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เตือนเปิบเห็ดป่าระวังรับพิษ เผยปี 58 พบผู้ป่วยกินเห็ดป่าพิษ 337 ราย มากที่สุดในอีสาน ตาย 1 ราย ที่ภาคเหนือ อาการคล้ายโรคอาหารเป็นพิษ กำชับ รพ. ทุกแห่งซักประวัติ สั่ง สสจ. ให้ความรู้ แก้ปัญหาทดสอบเห็ดพิษแบบผิด ๆ

นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีเห็ดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งชนิดที่กินได้ และกินไม่ได้ ซึ่งประชาชนบางพื้นที่ยังเข้าใจผิดและเก็บเห็ดพิษมากิน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 ก.ค. 2558 พบผู้ป่วย 337 ราย จาก 38 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย ที่ จังหวัดตาก โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราป่วยสูงสุด มากที่สุดที่จังหวัดอุบลราชธานี 88 ราย รองลงมาคือ ภาคเหนือ มากที่สุดที่เชียงราย 29 ราย อาการเมาเห็ดพิษ มักเกิดหลังกินเห็ดไปแล้ว 2 - 3 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคอาหารเป็นพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ หากได้รับพิษมาก อาจทำให้ตับไตวายได้ ให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ซักประวัติผู้ป่วยที่มีอาการอาหารเป็นพิษทุกราย เพื่อแยกสาเหตุว่ามาจากการรับประทานเห็ดพิษหรือไม่ เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ อสม. เร่งให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะความเชื่อผิด ๆ ในการทดสอบเห็ดพิษ ซึ่งเสี่ยงอันตรายสูง เช่น นำเห็ดมาต้มกับข้าวสาร หรือต้มกับช้อนเงิน หรือเชื่อว่า การปรุงเห็ดด้วยความร้อนสูง จะทำลายพิษเห็ดได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากความร้อนไม่สามารถทำลายสารพิษในเห็ดพิษทุกชนิดได้

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการป่วย ส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกหิน ซึ่งขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่านที่กินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ เห็ดระโงกหิน จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง ช่วงที่ประชาชนจะเสี่ยงอันตรายจากเห็ดป่าที่สุด คือ ช่วงดอกอ่อน หรือเห็ดยังตูม ทั้งเห็ดพิษและเห็ดที่กินได้จะมีลักษณะเหมือนกันหมด แยกได้ยากมาก และสารในเห็ดพิษจะทนต่อความร้อน ไม่สามารถทำลายพิษได้ ทำให้มีข่าวปรากฏบ่อยครั้งว่าพบผู้ป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว และยังมีเห็ดพิษรุนแรงอีกหลายชนิด เช่น เห็ดเมือกไครเหลือง และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายเห็ดโคนขนาดเล็ก นอกจากนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนไม่ควรกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ด แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย

“หากพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ให้ช่วยเหลือเบื้องต้น โดยทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้ได้มากที่สุด เช่น การล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว เพื่อขับพิษออกจากร่างกายเร็วที่สุด และนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน ควรรีบไปพบแพทย์ และบอกประวัติกินเห็ดแก่แพทย์ผู้ให้การรักษา พร้อมนำตัวอย่างเห็ดพิษไปให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้ เห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่ควรเก็บมาบริโภค ได้แก่ เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก หรือเห็ดที่มีปุ่มปม หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น