xs
xsm
sm
md
lg

“ลมชัก” ไม่ใช่ “ผีเข้า” รีบรักษาก่อนสมองเสื่อม พิการ ตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือนป่วยลมชักไม่ใช่ผีเข้า ให้รีบรักษาหาสาเหตุ ช่วยกลับมามีชีวิตปกติได้ ชี้ชักหนึ่งครั้งเซลล์สมองตายอื้อ เสี่ยงสมองเสื่อม ความจำเสื่อม พิการ ระบุรักษาช้าถึงขั้นตาย

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ประธานมูลนิธิเพื่อโรคระบบประสาทแห่งประเทศไทย แถลงข่าววันสมองโลก ว่า โรคลมชักเป็นโรคที่พบได้บ่อยในระบบประสาท เกิดจากมีพยาธิสภาพขึ้นที่ผิวสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งเฉพาะที่ หรือชักหมดสติทั้งตัว สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย และมีโอกาสเกิดซ้ำได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง โดยทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคลมชักมากกว่า 50 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2.4 ล้านคน โดย 3 ใน 4 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ 2-6 เท่า องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ปีนี้รณรงค์เกี่ยวกับโรคลมชักพร้อมกันทั่วโลก เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและรับรู้ถึงสถานการณ์ของโรคลมชัก

ศ.นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยลมชักสะสมประมาณ 350,000 - 500,000 คน โดยปัจจุบันยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่า โรคนี้เกิดจากผีเข้าสิงหรือโรคติดต่อ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน จึงต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อลบล้างความเชื่อในอดีตและทำให้เข้าถึงการรักษา เพราะมากกว่าร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคลมชักสามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติได้ สาเหตุของโรคแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามอาการ คือ 1. โรคลมชักทั้งตัว หรือลมบ้าหมู โดยร้อยละ 50 เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลืออาจเกิดจากสมองถูกกระทบกระเทือน สมองขาดออกซิเจน ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง ติดเชื้อระบบประสาทส่วนกลาง โรคเอดส์ ภาวะสมองขาดเลือด โรคเนื้องอกสมอง เป็นต้น และ 2. โรคลมชักเฉพาะที่ เป็นภาวะที่จะมีอาการกระตุกหรือเกร็งเฉพาะที่ โดยที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีภาวะหมดสติ ไม่เกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม เช่น ประสบอุบัติเหตุทางศีรษะรุนแรง

รศ.พญ.นาราพร ประยูรวิวัฒน์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคนั้นความยากง่ายขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค และโรคนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ ที่สำคัญคือ ต้องอย่าให้เกิดอาการชักอีก เนื่องจากจะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้ และการรักษาต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือผู้ป่วยโรคลมชักแล้วยังคุมอาการไม่ได้ก็ควรเลี่ยงการอยู่ใกล้เครื่องจักร และกลุ่มผู้ขับรถสาธารณะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ควรไปขับรถขณะที่ยังไม่ได้รับการรักษา

ศ.นพ.อนันต์นิตย์ วิสุทธิพันธ์ นายกสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาโรคลมชักทำได้ 2 วิธี คือ 1. ให้ยารักษาอาการชักและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เพราะการชักแต่ละครั้งเซลล์สมองจะตาย ส่งผลให้ความจำเสื่อม สมองเสื่อม สมองช้า และเกิดความพิการได้ และ 2. การผ่าตัด เพื่อแก้ไขสาเหตุการชัก เช่น เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ การรักษาโรคลมชักของไทยนั้นมีความสามารถในการรักษาได้ดีเทียบเท่า สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น หากผู้ป่วยลมชักไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเกิดการชักต่อเนื่องและอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 10

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น