เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ ชี้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานพลาด ยกเคสแรงงานพม่าถูกจับ เพราะเอกสารผิดพลาด ทั้งที่ดำเนินการถูกต้อง เสียสิทธิตรวจสัญชาติ ถูกปรับพร้อมส่งกลับประเทศ ต้นเหตุหนึ่งแก้ค้ามนุษย์ไม่กระเตื้อง
น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาจัดอันดับการค้ามนุษย์ โดยให้ไทยยังคงอยู่ในบัญชี 3 หรือ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุด ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ว่า ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ในการเรื่องของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก เพราะแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีคำสั่งให้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยการทำบัตรประจำตัวผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย และให้ผ่อนผันในการตรวจพิสูจน์สัญชาติ รวมไปถึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทยในการห้ามแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นบางกรณีเช่น แรงงานประมง แรงงานทำงานบ้านที่ติดตามนายจ้าง มีหนังสือเปลี่ยนนายจ้าง หรือหนังสือส่งตัวของโรงพยาบาล เป็นต้น แต่เนื่องจากข้อมูลและแนวทางปฏิบัติยังไม่ได้รับการเผยแพร่ มีความเข้าใจไม่ชัดเจนทั้งตัวเจ้าหน้าที่รัฐและแรงงานข้ามชาติ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสัญชาติ
น.ส.โรยทราย กล่าวว่า อย่างล่าสุดมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเดินทางโดยมีเอกสารครบถ้วน แต่เจ้าหน้าที่ประจำด่านฯ พบว่า หนังสือรับรองจากสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 ที่แรงงานถือมานั้นมีความผิดพลาด คือ พิมพ์ปีพุทธศักราชและชื่อของแรงงานผิด จึงสันนิษฐานว่าเป็นเอกสารปลอม จึงแจ้งข้อหาว่าเป็นคนต่างด้าวที่เดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้สิทธิอาศัยชั่วคราวเป็นสิ้นสุดตามมาตรา 81 พ.ร.บ. คนเข้าเมือง และถูกส่งตัวไปยัง สภ.แม่สอด แต่จากที่เครือข่ายฯ ได้ตรวจสอบไปที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 7 มีเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องยอมรับว่าเอกสารฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง แต่มีการพิมพ์ผิดพลาด ซึ่งไม่ใช่แค่รายดังกล่าวเพียงรายเดียว แต่ยังมีหนังสือทั้งหมดที่ออกในวันที่ 7 ก.ค. 2558 ด้วย ขณะที่แรงงานต่างด้าวรายดังกล่าวถูกส่งฟ้องที่ศาล มีคำพิพากษาว่ามีความผิดถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน ปรับเป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือปรับ 2,000 บาท จำคุดให้รอการลงโทษ 1 ปี และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง
“แรงงานต่างด้าวรายดังกล่าวต้องถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดยที่ไม่มีความผิด ถูกควบคุมตัวให้ไร้อิสรภาพ ถูกพิพากษาให้ชำระค่าปรับ รอการลงโทษเป็นเวลา 1 ปี สูญเสียโอกาสเข้าสู่กระบวนการตรวจสัญชาติ เพื่อเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการสื่อสารกันเองระหว่างภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงสะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะชั้นจับกุมและสอบสวนที่ไม่ทราบว่ามีการสอบคำให้การของผู้ต้องหาอย่างไร การสารภาพรับข้อกล่าวหาอาจจะเป็นไปได้ว่าไม่มีการใช้ล่ามแปลภาษาระหว่างสอบสวน นอกจากนี้ มีข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์รายหนึ่งที่สถานีตำรวจให้ข้อมูลว่ามีการเรียกผู้ต้องหาให้ลงลายมือชื่อ แต่ไม่มีการสอบปากคำ ทำให้ผู้ต้องหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจงแสดงหลักฐาน” น.ส.โรยทราย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่