xs
xsm
sm
md
lg

จวก บ.บุหรี่ซาดิสต์ โยนบาปครอบครัวทำเด็กเป็นนักสูบ แฉกลับออกแบบบุหรี่ติดง่าย เลิกยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
“หมอประกิต” จวก บ.บุหรี่ซาดิสต์ ต้าน กม. ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ เหตุเด็กเป็นสิงห์อมควันเพราะครอบครัว เพื่อน แฉออกแบบบุหรี่เติมสารพัดสารทำเยาวชนติดงอมแงมง่ายขึ้น เลิกยากขึ้น เสี่ยงโรคเรื้อรังมากขึ้น คนไทยตายเฉลี่ยจากบุหรี่ปีละ 50,000 คน แต่ฟันกำไรปีละหมื่นล้านบาท ด้านนักกฎหมายยันต้องคลอด กม. ควบคุมยาสูบ ช่วยปกป้องเยาวชนและคนไม่สูบบุหรี่

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในเวทีอภิปราย “สถานการณ์ความสูญเสียต่อสุขภาพของยาสูบ...ความจำเป็นต้องมีกฎหมายยาสูบใหม่” ในงานประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 เรื่อง “หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” ระหว่างวันที่ 27 - 29 ก.ค. 2558 ว่า บุหรี่ในปัจจุบันผลิตมาเพื่อให้คนเสพติดง่ายขึ้นและมากขึ้น เพราะมีการเพิ่มสารนิโคตินเข้าไป นอกจากนี้ ยังเติมส่วนประกอบอื่น ๆ ลงไป เพื่อลดความระคายเคืองจากการสูบบุหรี่ ทำให้ผู้เริ่มสูบบุหรี่ชอบ สูบแล้วติด เช่น เมนทอลที่ให้ความเย็น น้ำตาลทำให้หอม ลดการระคายเคือง แอมโมเนีย ที่ช่วยให้นิโคตินขึ้นสู่สมองเร็วขึ้น สารปรุงรส กรด ยาขยายหลอดลมที่ทำให้ควันเข้าไปได้ลึกขึ้น รวมไปถึงออกแบบก้นกรองบุหรี่ที่ทำให้เวลาสูบแล้วควันเข้าไปได้ลึกขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการออกแบบมาเช่นนี้ เพราะต้องการทำให้เด็กและเยาวชนติดบุหรี่ เพื่อเพิ่มยอดลูกค้า เรียกได้ว่า ปัจจุบันบุหรี่มีอันตรายมากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน เกิดโอกาสเป็นมะเร็งปอดและถุงลมโป่งพองมากขึ้น แม้จะสูบมวนน้อยกว่า เสพติดง่ายขึ้น อำนาจเสพติดสูงขึ้น เลิกสูบยากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคและเสียชีวิตมากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ประมาณ 50,000 คนต่อปี

บริษัทบุหรี่พยายามอ้างว่าเยาวชนติดบุหรี่ เพราะมีต้นแบบมาจากพ่อแม่ ครอบครัว และจากเพื่อน เหตุใดจึงโยนความผิดมาให้บริษัทบุหรี่ด้วยการออกกฎหมายมาควบคุม ตรงนี้ชัดเจนว่าบริษัทบุหรี่ไม่เคยใส่ใจผู้บริโภคและพยายามโยนความผิดมาให้ครอบครัว แม้จากพฤติกรรมเด็กในการติดบุหรี่จะถือว่าใช่ เพราะเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง แต่จะเห็นได้ว่าบุหรี่ก็ออกแบบมาเพื่อให้เยาวชนติดได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน และบุหรี่เป็นสินค้าถูกกฎหมายชนิดเดียวที่คร่าชีวิตผู้บริโภคตามคำแนะนำที่ให้ ทั้งที่ทำกำไรจากการค้ามากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี แล้วมาบอกว่าไม่ควรออกกฎหมายใหม่ ถือว่าบริษัทบุหรี่นั้นเข้าขั้นซาดิสต์ ทั้งที่การออกกฎหมายใหม่นั้นมีความจำเป็น เพราะเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ปกป้องเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นายจิรวัฒน์ อยู่สบาย สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพราะเป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชนเกินครึ่งประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยมากขึ้น และเป็นการดำเนินตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ทั้งนี้ ยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้สุดโต่งตามที่บริษัทบุหรี่กล่าวหา เพราะกว่า 80% ยังเป็นเนื้อหาตามกฎหมายเดิม มีการปรับแก้เพียง 20% เท่านั้น เพื่อให้เหมาะสมกับสังคมและสถานการณ์ปัญหาในไทยมากขึ้น เช่น นิยามผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของนิโคติน จากเเดิมที่กำหนดเพียงผลิตภัณฑ์ที่มีใบยาสูบเป็นส่วนประกอบ ทำให้ไม่ทันกับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ออกมา เช่น บารากู่ บุหรี่ไฟฟ้า การปรับอายุผู้ซื้อบุหรี่เพิ่มเป็น 20 ปีเหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยปกป้องเยาวชนได้มากขึ้น กำหนดสถานที่ห้ามขาย โดยมีการเปิดช่องให้ออกกฎหมายลูกในการกำหนดระยะห่างรอบสถานที่ได้ในอนาคต รวมไปถึงการห้ามขายแบบแบ่งมวน เพราะเด็กกว่า 88.3% เข้าถึงบุหรี่จากการแบ่งซองขาย ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย และการห้ามทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เพราะเป็นซีเอสอาร์จอมปลอม เพื่อเพิ่มลูกค้าในอนาคต

ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ แกนนำเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องออก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อช่วยปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากควันบุหรี่ ซึ่งหลาย ๆ มาตรการเป็นการปกป้องเด็กและเยาวชน เช่น การกำหนดอายุห้ามขายที่ 20 ปี จากเดิม 18 ปี ก็จะช่วยให้เด็กที่เข้าถึงบุหรี่อยู่ในวัยที่มีวิจารณญาณดีขึ้น เพราะอย่างการกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสถานบันเทิง ตอนเเด็ก ๆ ก็จะรอว่าเมื่อไรจะอายุถึง 20 ปี ถึงจะเข้าได้ แต่พอโตมากขึ้น มีวิจารณญาณที่ดีขึ้นก็จะรู้สึกว่าจะเข้าไปทำไมในสถานที่อโคจร บุหรี่ก็เช่นกันพอถึงช่วงวัยที่อนุญาตให้ซื้อบุหรี่ได้ ก็ถึงวัยที่เขาสามารถตัดสินใจเองได้แล้วว่าบุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรยุ่งเกี่ยว ก็จะช่วยลดการสูบได้มากขึ้น หรือการห้ามแบ่งมวนบุหรี่ขายก็ช่วยให้เด็กซื้อยากมากขึ้น เพราะทุนทรัพย์มีจำกัดในการได้รับเงินมาโรงเรียนแต่ละวัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น