xs
xsm
sm
md
lg

ชายแดนไทย-พม่า สุขภาพดีขึ้น มาลาเรียลดลง เข้าถึงการรักษาวัณโรคเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุขภาพแนวชายแดนไทย - พม่า ดีขึ้น หลังร่วมมือตั้งแต่ปี 2556 ช่วยผู้ป่วยมาลาเรียของพม่าลดลง 50% ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น รักษาหายขาดสูงถึงร้อยละ 80 ผู้ป่วยเอชไอวีได้กินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง

วันนี้ (24 ก.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย - พม่า ครั้งที่ 2 ว่า หากระบบสุขภาพตามแนวชายแดนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อ มาตรฐานอาหารและยา จะช่วยหนุนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและอาเซียนก้าวหน้ายิ่งขึ้น สำหรับความร่วมือระหว่างไทย - พม่า ตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อปี 2556 เช่น การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ มีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ อาทิ ปัญหาโรคมาลาเรีย ได้ตั้งคลินิกมาลาเรีย 119 แห่งตามแนวชายแดนฝั่งพม่า สามารถตรวจเชื้อและรักษาได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยในภาพรวม 16 จังหวัดของพม่าลดลงร้อยละ 50 จาก 45,000 รายในปี 2556 ลดเหลือ 20,000 รายในปี 2557

“ที่ยังมีปัญหา คือ เชื้อดื้อยาอาตีมิซินีล ที่ใช้รักษาเชื้อมาลาเรียชนิดพี.เอฟ. ที่ดีที่สุด เนื่องจากการเปิดพรมแดนประชาชนเคลื่อนย้ายตลอดเวลา โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและเมียวดี ปัญหาต่อไปคือวัณโรค ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้นจากปี 2556 มีจำนวน 4,882 ราย เพิ่มเป็น 5,523 ราย ในปี 2557 โดยผู้ป่วยกินยาครบรักษาหายขาดถึงร้อยละ 80 ในส่วนผู้ป่วยเอชไอวีเอชเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการที่มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่องร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝด 4 จังหวัด ทั้งนี้ ยังต้องเร่งรัดความเข้มข้นในเรื่องการเฝ้าระวังคุณภาพยาและอาหาร ยาสมุนไพร โดยเพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4 แห่งที่เมียวดี ท่าขี้เหล็ก ทวายและเกาะสอง ให้ตรวจได้ถึงระดับโมเลกุล และเร่งรัดความร่วมมือด้านวิชาการ การฝึกอบรม การวิจัยร่วมกัน” รมว.สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น