xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ไทย-พม่า สกัดโรคชายแดนได้ผล มาลาเรีย-วัณโรค-เอชไอวี ชะงัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - รัฐมนตรีสาธารณสุขไทย-พม่า เปิดเวทีประชุมทวิภาคีด้านสาธารณสุข เผยหลังความร่วมมือปี 56 จนถึงวันนี้ โรคติดต่อตามแนวชายแดนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังต้องคุมเข้มคุณภาพยา อาหาร สมุนไพร ใน 4 ช่องทางสำคัญ ทั้งเมียวดี ท่าขี้เหล็ก ทวาย และเกาะสอง รับประชาคมฯ อาเซียน

ศ.นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธาณสุข นายแพทย์ธาน อุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศพม่า ได้เปิดประชุมทวิภาคีระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทย-พม่า ครั้งที่ 2 โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย สุดสัปดาห์นี้ เพื่อสรุปผลการดำเนินการความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างทั้ง 2 ประเทศ พร้อมมีการหารือและรับรองแผนปฏิบัติการความร่วมมือตั้งแต่ปี 2559-2561

ศ.นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพตามแนวชายแดน เพื่อร่วมมือดูแลสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ประชาชน เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประเทศอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน

โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อ มาตรฐานอาหารและยา หากทุกประเทศมีความเข้มแข็ง เชื่อมั่นว่าระบบการสาธารณสุขที่ดีระหว่างประเทศจะช่วยหนุนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และอาเซียนก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำหรับผลความร่วมมือไทย-พม่า ได้ดำเนินการตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อปี 2556 เช่น การควบคุมป้องกันโรคติดต่อมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ ปัญหาโรคมาลาเรียในภาพรวม 16 จังหวัดของพม่า ลดลงร้อยละ 50 จากเดิมในปี 2556 ที่พบผู้ป่วย 45,000 ราย แต่ในปี 2557 ลดเหลือ 20,000 ราย เพราะมีการตั้งคลินิกมาลาเรีย 119 แห่ง ตามแนวชายแดนฝั่งประเทศพม่า ซึ่งได้ช่วยทำให้การตรวจเชื้อ และรักษาโรคทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่พบว่ายังมีปัญหาคือ พบเชื้อดื้อยาอาตีมิซินีล ที่ใช้รักษามาลาเรีย จึงจะมีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างด้านอื่น เช่น กรณีวัณโรค ที่พบผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีจำนวน 4,882 ราย ปี 2557 ก็เพิ่มเป็น 5,523 ราย โดยผู้ป่วยกินยาครบถึงร้อยละ 80 ส่วนผู้ป่วยเอชไอวีเอช เข้าถึงยาต้านไวรัสได้ต่อเนื่อง จึงทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องรับยาต่อเนื่องร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลคู่แฝด 4 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังต้องเร่งรัดความเข้มข้นในเรื่องการเฝ้าระวังคุณภาพยา และอาหาร ยาสมุนไพร โดยเพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เมียวดี ท่าขี้เหล็ก ทวาย และเกาะสอง เพื่อให้ตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลต่อไป ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ก็ให้เร่งรัดดำเนินการโดยส่วนใหญ่เป็นด้านวิชาการ การฝึกอบรม และการวิจัยร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น