แพทย์ชี้พฤติกรรมเด็ก “สาวแตก ทอมบอย แสดงออกทางเพศ” เป็นผลจากสมองตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ ห่วงช่วงสับสนทางเพศกระตุ้นทดลองมีเซ็กซ์ เสี่ยงติดเอดส์ ท้องไม่พร้อม เผยพ่อแม่รับลูกเพศหลากหลายไม่ได้ เพราะช็อก รู้สึกสูญเสียสิ่งที่คาดหวัง แนะยอมรับทำความเข้าใจ ย้ำดึงกลับเพศเดิมยิ่งส่งผลร้าย เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ติดยา
วันนี้ (13 ก.ค.) พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บรรยายเรื่อง “ก็แค่หลากหลายแต่ไม่แตกต่าง” ในการประชุมวิชาการเรื่อง เพศหลากหลายในวัยรุ่น ว่า สังคมไทยไม่ได้มีเพียงแค่เพศหญิงและเพศชายเท่านั้น แต่ยังมีทั้งกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง ชอบทั้งสองเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ คนสองเพศ ฯลฯ แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล หรือยังไม่ค้นพบตัวเอง สาเหตุของการแสดงออกทางเพศยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากการเลี้ยงดู หรือการโดนทารุณกรรมทางเพศ แต่ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยมากขึ้น และพบว่า การแสดงออกนั้นมาจากสมองโดยตรงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และสภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยให้มีการแสดงออกมากขึ้น ทั้งนี้ พบว่า พัฒนาการทางเพศจะแบ่งออกเป็นช่วง ๆ เริ่มที่อายุประมาณ 10 - 11 ปี และมาชัดเจนที่อายุประมาณ 13 - 15 ปี แต่ก็ยังมีความสับสนอยู่ ก่อนจะตัดสินใจยอมรับรสนิยมทางเพศของตัวเองในที่สุด
พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพจะมีความอ่อนไหว โมโหง่าย แต่ไม่ได้อารมณ์รุนแรง และไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะก่อความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ที่ผ่านมา เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะทุกวันนี้จะเห็นว่าอาชญากรรม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากคนทั่วไปมากกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะช่วงสับสนเรื่องเพศ ทำให้มีความเสี่ยงจากการทดลองมีเพศสัมพันธ์ อาจจะมีปัญหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรให้ความเข้าใจและยอมรับเพศของลูกปรับทัศนคติใหม่ว่าเพศไม่ใช่ทางเลือก ที่สำคัญ ลูกยังเป็นคนเดิม การพยายามทำให้เด็กกลับมามีความรู้ตามเพศดั้งเดิมนั้นไม่เป็นผลดี ทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายและติดสารเสพติด
ด้าน นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี บรรยายเรื่อง “ช่วยครอบครัวอย่างไร เข้าใจลูกเพศหลากหลาย” ในงานเดียวกันว่า ครอบครัวที่ลูกเข้ามาเปิดเผยว่าตนเป็นเพศหลากหลาย พ่อแม่อาจจะมีการตอบสนองที่แตกต่างกันไป บางคนรับไม่ได้เลย รู้สึกโกรธ โมโห มีการลงโทษ บางคนอาจพอรับได้ แต่การแสดงออกต้องมีขอบเขต เช่น อยู่บ้านให้แสดงออกอย่างหนึ่ง อยู่นอกบ้านแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง ขณะที่บางคนสามารถยอมรับได้ และบางส่วนก็สนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงเพศ ซึ่งส่วนใหญ่ในสังคมไทยพ่อแม่ยังเป็นกลุ่มที่รับไม่ได้เลยหรือรับได้บ้าง โดยเฉพาะพ่อที่ยอมรับได้ยากกว่าแม่ ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่เป็นเพศหลากหลายแล้วครอบครัวปฏิเสธ มีความสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าเด็กปกติถึง 8 เท่า เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเด็กปกติ 6 เท่า เสี่ยงใช้สารเสพติด 3 เท่า เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ 3 เท่า เสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ 3 เท่า ซึ่งต่างจากครอบครัวที่ยอมรับเด็กที่เป็นเพศหลากหลาย เมื่อเด็กโตขึ้นพบว่าร้อยละ 90 จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข และร้อยละ 70 อยากมีครอบครัวของตนเอง
นพ.คมสันต์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่พ่อแม่รับไม่ได้ อาจเป็นเพราะมีความรู้สึกสูญเสียในสิ่งที่เคยคาดหวัง หรือในสิ่งที่อยากให้ลูกเป็น ซึ่งความรู้สึกแรกจะเป็นลักษณะช็อก หรือไม่จริง จากนั้นตามมาด้วย ความโกรธ ผิดหวัง ไม่พอใจ จากนั้นจะมีการคาดหวัง ต่อรองให้ลูกเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และสุดท้ายเกิดการยอมรับในที่สุด ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นตอนของการยอมรับได้นั้นใช้เวลานานมาก และถึงแม้จะยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นการยอมรับตลอดไป เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ขอผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศ หรือขอแต่งงานก็จะกลับไปมีความรู้สึกเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้น พ่อ แม่จะต้องตระหนัก และรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองว่า ตัวเองกังวลอะไรในตัวลูก และต้องยอมรับด้วยว่าการที่ลูกเป็นเช่นนั้นไม่ได้เกิดจากการที่พ่อแม่เป็นผู้กำหนด และเราไม่สามารถห้ามความคิดของคนอื่นได้ โดยอาจพยายามทำความเข้าใจในตัวตนของลูก หรือหาคนมารับฟังเพื่อขอคำปรึกษา ซึ่งจะทำให้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่