xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเพรียกจากนางฟ้า ถึงเวลาป้องกันอุบัติเหตุรถพยาบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“เสร็จเคสนี้กลับเลยนะพี่ ค่อยๆ ไปก็ได้” เสียง อรทัย แร่นาค พยาบาลโรงพยาบาลวังโป่ง บอกกับพนักงานขับรถส่งต่อผู้ป่วย (รถรีเฟอร์) ที่กำลังขับรถออกจากโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ มุ่งหน้ากลับโรงพยาบาลวังโป่ง ต้นสังกัดของเธอ และอยู่ห่างออกไปอีกกว่า 100 กิโลเมตร ขณะที่รถพยาบาลเพิ่งวิ่งห่างออกจากโรงพยาบาลเพียง 1 กิโลเมตรและเตรียมยูเทิร์นเพื่อกลับไปยังเส้นทางเดิม วินาทีที่รถรีเฟอร์กำลังออกตัว ได้มีรถกระบะสีขาวคันหนึ่งพุ่งมาด้วยความเร็วสูง และชนเข้ากับประตูบานสไลด์กลางคันของรถพยาบาลเข้าเต็มแรงจนรถพยาบาลกระเด็นไปหลายเมตร

เมื่อตั้งสติได้ อรทัย และเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนที่อยู่บนรถรีบลงมาดูว่ามีใครได้รับบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งฝั่งของอรทัยและเพื่อนไม่มีใครเป็นอะไรมาก มีเพียงรอยฟกช้ำและศีรษะถลอก หากแต่ฝั่งคู่กรณีบาดเจ็บสะโพกหลุด อรทัยจึงรีบโทร.แจ้งสายด่วน 1669 มารับคนเจ็บส่งโรงพยาบาลต่อเพื่อทำการรักษาทันที

หลังจากเหตุการณ์เราเสียขวัญเลยนะ ยังไม่กล้านั่งรถไปส่งคนไข้เท่าไร แต่ก็ต้องไปเพราะเป็นเวรส่งต่อผู้ป่วย ได้แต่บอกคนขับว่าพี่ไปช้าๆ นะและเราจะไม่ไปยูเทิร์นตรงนั้นอีกแล้ว เรารู้สึกว่าเราโชคดีมากนะที่อุบัติเหตุครั้งนั้นเราและเพื่อนไม่ได้เป็นอะไรมาก เพราะที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น พยาบาลรุ่นพี่บางคนของเราถึงขึ้นพิการและเสียชีวิตเลยก็มี จริงๆ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเยียวยา เรื่อค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประกันต่างๆ กรณีเกิดอุบัติเหตุบ้าง เพราะบางทีเราก็ระวังแล้วแต่คนอื่นไม่ระวังขับรถมาชนหรือเกิดอุบัติเหตซึ่งมันจะกลายเป็นเหตุสุดวิสัย และจะกลายเป็นว่าเราเป็นคนไปช่วยผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ แต่ถ้าเราเป็นเองบ้างกลับจะไม่มีการช่วยเหลือเราเลย ทั้งที่เป็นงานในความรับผิดชอบของเรา ซึ่งเรามีแค่ค่าเวรครั้งละ 600 บาทเท่านั้น ” อรทัยบอกเล่าความรู้สึกหลังจากประสบอุบัติเหตุพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแม้เธอจะไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรมากมายแต่ภาครัฐควรที่จะมีมาตรการหรือแนวทางในการให้ความช่วยเหลือกรณีบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้รับบาดเจ็บจากการส่งต่อผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ พัชรี อุดมมา อดีตพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาลบาลแม่สอดจังหวัดตาก ที่ประสบอุบัติในการปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยจนกระดูกต้นคอหักทับเส้นประสาทจนทำให้กลายเป็นอัมพาต ทุกวันนี้พัชรีต้องนั่งรถเข็นเป็นหลัก และมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ความหวังซึ่งก็คือลูกสาว และผู้เป็นพ่อซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว

พ่อจะอยู่ยังไง ลูกจะอยู่ยังไง ทุกอย่างมันเข้ามาจนเราตั้งตัวไม่ทัน ความเจ็บป่วยของตัวเองเวลานั้นมันสุดๆ มันบอกไม่ถูกไม่รู้จะพูดยังไง เราจะเป็นอะไรไม่ได้ เพราะเราเป็นเสาหลักของครอบครัว เสียดายเวลา เสียดายโอกาส ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว เราไม่อยากให้เพื่อวิชาชีพเดียวกันต้องมาเป็นแบบเรา อยากให้รัฐเขียนเป็นนโนบายให้ชัดเจนเลยว่ากรณีมีอุบัติเหตุอย่างเราการช่วยเหลือจริงๆจะมีอะไรบ้าง อายุงานกี่ปีได้สิทธิ์เท่าไหร่ อะไรบ้าง จะดูแลกันอย่างไรอยากให้มีแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปเลย” อดีตพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาลบาลแม่สอดจังหวัดตากบอกเล่าความรู้สึกของตนเอง และให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐน่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการออกระเบียบหรือมีหลักประกันสำหรับข้าราชการหรือบุคลากรทางการแพทย์ หรืออาจจะต้องกำหนดว่าควรมีคนขับรถ 2 คน กรณีที่เป็นยามวิกาลหรือระยะทางที่ไกลมาก และหากเกิดอุบัติเหตุควรมีการชดเชยรายได้ด้วย

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพยาบาลวิชาชีพทั้งสองคนนี้นั้นได้ถูกรวบรวมถ่ายทอดและบอกเล่าผ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค “เสียงเพรียกจากนางฟ้า” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผ่านวิธีการรวบรวมข้อมูลและสัมภาษณ์พยาบาล พนักงานขับรถ ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถพยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อหวังที่จะสะท้อนแนวโน้มของปัญหา ความไม่ปลอดภัย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของผู้ปฏิบัติงานในรถพยาบาล

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาสถิติการเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินมีมากถึง 61 ครั้งมีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 130 ราย และเสียชีวิตอีก 19 รายและในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินถึง 28 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 5 คน และบาดเจ็บ 54 คน ถือว่าเป็นสถิติที่สูงมาก

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า บุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อผู้ป่วย เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งทุกๆ คนทุ่มเททำงานด้วยความเสียสละและเสี่ยงภัย ความปลอดภัยของบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจึงถือเป็นนโยบายที่สำคัญของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หนังสือเสียงเพรียกจากนางฟ้านั้นจะทำให้ผู้ที่ได้อ่านเห็นความจริงและทราบถึงสภาพปัญหาที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนต้องพบเจอ ซึ่งเราหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างประโยชน์ในการตระหนักในเรื่องความปลอดภัยเชิงป้องกันอุบัติเหตุรถพยาบาลเพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในรถพยาบาลต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการในการดูแลเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ.และทีมสหวิชาชีพได้ยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการจัดประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านโดยเราได้เรียกร้องให้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยของรถการแพทย์ฉุกเฉินและการประกันภัยเป็นนโยบายเร่งด่วน

สำหรับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ล่าสุดมีหลายโรงพยาบาลเริ่มดำเนินการในการจัดทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสังกัดของตนเองแล้วอาทิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลยและโรงพยาบาลกระบี่

เช่นเดียวกับจังหวัดเพชรบูรณ์ นางเกษร วงศ์มณี สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก กล่าวว่า เริ่มโครงการทำประกันภัยชั้น 1 ให้รถพยาบาลมาหลายคันแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราต้องดูแลบุคลากรของเรา โดยเฉพาะเพชรบูรณ์สภาพพื้นที่เป็นภูเขา จึงยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จะรณรงค์ให้หลายๆ พื้นที่ใกล้เคียงเร่งทำประกันภัยด้วยซึ่งจะคุ้มครองทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ หรือช่วยเหลือกรณีมีคดีความฟ้องร้องด้วยโดยรถราชการสามารถจัดทำประกันภัยและเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายได้จากงบประมาณราชการได้ ทั้งในส่วนของการประกันภัยภาคบังคับ และภาคสมัครใจ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การเกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลฉุกเฉินลดน้อยลงได้ เพียงแค่เรามีจิตสำนึกร่วมในการหลีกทางและชะลอความเร็วของรถเราลงเมื่อเห็นรถพยาบาลฉุกเฉินผ่านทาง หรือขอทาง ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการทำความดีเล็กๆ แต่ได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ ทั้งตัวเราเอง ทั้งจากผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย หลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน ความดีง่ายๆ ที่เราก็สามารถทำได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น