อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และ อดีตนายกสภา มก. แนะทางออกปัญหาแต่งตั้งอธิการบดี ต้องยึดมติสภามหาวิทยาลัยเป็นที่สิ้นสุด เพราะสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หน่วยงานนอกเหนือจากนั้นจะมาถ่วงเรื่องการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ไม่ได้
ต่อกรณีปัญหาการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่ค้างคามานานกว่า 9 เดือน เนื่องจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ได้ใช้อำนาจชะลอการนำชื่อ รศ.บดินทร์ รัศมีเทศ ขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกับให้คณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติ ทั้งที่ สภา มก. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ รศ.บดินทร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนเกิดสุญญากาศในการบริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ล่าสุด ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า สภามหาวิทยาลัยถือเป็นตัวแทน “เจ้าของ” มากำกับดูแล (Governance) มหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัยยังเป็นหน่วยงานสูงสุดของมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบความสาเร็จ / ความล้มเหลวของมหาวิทยาลัย แต่บทบาทที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้นึกถึง คือ การเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับสังคม ชี้นำสังคม และต้องไม่ปล่อยให้มหาวิทยาลัยเคว้งคว้างอย่างไร้ทิศทาง ดังนั้น โดยนัยนี้ จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า มติของสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ย่อมถือเป็นบทสรุปอันเป็นที่สิ้นสุด อย่างเช่น การเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับ “ศาสตราจารย์” นั้น พระมหากษัตริย์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์โดยคำแนะนาของสภามหาวิทยาลัย ในกรณีตำแหน่งของฝ่ายบริหารอย่างอธิการบดีก็เช่นกัน พ.ร.บ. ทุกยุคทุกสมัยกำหนดไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนาของสภามหาวิทยาลัยจากผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่า สภามหาวิทยาลัยย่อมจัดให้มีกระบวนการสรรหาภายใต้หลักธรรมาภิบาลและต้องสรุปออกมาเป็นมติสภามหาวิทยาลัยที่ชัดเจนอยู่แล้ว
“นั่นเท่ากับว่า มติของสภามหาวิทยาลัย คือ คำแนะนาที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งต่อไป ซึ่งเป็นไปตามจารีตของสังคมไทยที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน หน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่หลังจากมติสภามหาวิทยาลัยไปแล้วนั้น ถือว่าพ้นหน้าที่ในอันที่จะหน่วงการถวายคำแนะนาให้เกิดความล่าช้า และเกิดผลเสียต่อราชการแผ่นดินโดยไร้เหตุอันควร หรือขาดหลักการทางกฎหมายรองรับ นี่คือ บทบาทที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องนำสังคมให้มุ่งสู่ทิศทางที่ถูกที่ควร และเหมาะสมกับสถานการณ์ให้ได้ แม้ว่าจะมีแรงเสียดทานจากปัจจัยภายนอกก็ตาม” ศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว
อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ และห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเช่นนี้ ความขลุกขลักล่าช้าแม้แต่วินาทีเดียวอาจทาให้เสียโอกาสต่าง ๆ มากมาย ยิ่งการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้วยแล้ว ถือเป็นปลายทางในการสร้างคนเก่งคนดีออกสู่สังคม ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต้องอาศัยคนเหล่านี้เอง การนำการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์มาพัวพันกับการศึกษามากเกินไป และกลายเป็นปมปัญหาที่ทำท่าจะไม่มีทางออก จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยถอยหลังลงคลองมากขึ้น ในขณะที่ประเทศที่มีมหาวิทยาลัยทีหลังเรากลับเจริญก้าวหน้ากว่าเราเสียด้วยซ้ำไป
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ย้ำอีกว่า ในเมื่อกฎหมายก็กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ลงมติใด ๆ ในฐานะตัวแทน “เจ้าของ” มหาวิทยาลัย ก็ควรจะกลับไปยึดถือตามมตินั้น เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ มีทางออก ไม่ใช่ทุกทางออกมีปัญหาหมด หรือมุ่งใช้ความรู้สึก/อัธยาศัยเป็นหลัก และมหาวิทยาลัยก็สามารถบริหารราชการต่อไปได้ อันที่จริงแล้ว เราไม่ควรย่อประเทศไทยมาไว้ในมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยผ่านพ้นช่วงเวลาอย่างนี้ไปได้ ผนวกกับการก้าวสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างสมบูรณ์แบบ คุณประโยชน์ทั้งหมดปวงจะตกอยู่ที่ใคร ? คำตอบ คือ เยาวชนและสังคมไทยนั่นเอง ทุกภาคส่วนคงจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะเจ้าของมหาวิทยาลัยที่แท้จริงก็คือประชาชนชาวไทย ไม่ใช่ใครอื่น