xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งธงยกเครื่องการศึกษา ชู “มีงานทำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกปฏิรูปการศึกษา กำหนดทิศทางปฏิรูป 5 เรื่อง ตั้งโจทย์ปฏิรูปเพื่อการมีงานทำ ย้ำการปฏิรูปต้องอาศัยซูเปอร์บอร์ด เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับชาติ ระบุ สนช. จัดทำรายละเอียดการทำงานเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป

วันนี้ (8 ก.ค.) นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือปฏิรูปการศึกษาที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร และพล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธาน กมธ. ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าร่วม ได้เห็นร่วมกันในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นหลัก 4 - 5 เรื่อง เรื่องแรก คือ การเปิดทางให้สถานศึกษามีสถานะเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง มีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาให้แก่เด็กอย่างมีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบ ขณะนี้พบว่ามีสถานศึกษากว่า 1,000 แห่ง ในทุกประเภทพร้อมยกสถานะเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ

เรื่องที่สอง การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัว ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยว่าต้นทุนการศึกษาที่รัฐควรจะจัดสรรให้แก่เด็กแต่ละกลุ่มควรจะเป็นในลักษณะใดอยู่ในอัตราเท่าไร จึงเหมาะสม อาทิ รายหัวเด็กทั่วไป เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กยากจน เด็กพิการ เป็นต้น

เรื่องที่สาม ควรกระจายอำนาจและบทบาทการศึกษาลงไปสู่พื้นที่และดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ภายใต้โจทย์การศึกษาเพื่อการมีงานทำและพร้อมสู่โลกของงาน

และเรื่องสุดท้าย การจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งรองนายกฯ ยกตัวอย่างเชียงใหม่โมเดล เมื่อครั้งไปร่วมประชุม ครม.สัญจร จ.เชียงใหม่ พบว่า เป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่เข้มแข็งและจะมีการจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด กำหนดเป้าหมายการพัฒนาบนพื้นฐานวัฒนธรรมเชียงใหม่แต่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้วย เช่นเดียวกับ รมว.ศึกษาธิการ ชูชลบุรีโมเดล ซึ่งร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมและวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่พัฒนาเด็ก เป็นต้นแบบที่จะนำไปศึกษาพัฒนาต่อยอดได้

“เรื่องสุดท้ายที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องมีกลไกระดับชาติ ซึ่งก็คือซูเปอร์บอร์ดเข้ามากำกับดูแลให้การปฏิรูปการศึกษาในระยะยาวเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องและควรประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ระดับบริหารเพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ส่วนต่อมาคือหน่วยงานด้านความรู้ และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การสั่งการใด ๆ ก็ตามจะอยู่ภายใต้การศึกษาวิจัยแล้ว” นายอมรวิชช์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานแต่ละเรื่องนั้น ทาง สนช. รับไปจัดทำรายละเอียดและนำมาเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น