รองนายกฯ เผย คตร.สอบพบความบกพร่องการใช้เงิน สปสช. พร้อมสอบให้ชัดเจน ก่อนรายงาน “ประยุทธ์” กลาง มิ.ย. รับผลสอบเบื้องต้นออกมาแล้ว แจง ผลถกปรับปรุงประเมิน ร.ร. รื้อระบบ ให้ประเมินแบบออนไลน์แทนไปตาม ร.ร. ลดภาระครู คาดเริ่มปี 59 เว้น ร.ร.ที่ผิดปกติ ชี้ไม่ได้ลงโทษแต่ช่วยแก้ปัญหา
วันนี้ (27พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในเบื้องต้นทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร.ได้พิจารณาและเห็นว่ามีความบกพร่องในการใช้เงินของ สปสช. โดยนำเงินไปใช้ผิดประเภท เช่น การให้เงินค่าหัวที่มีหลักเกณฑ์ในการนำไปใช้กำหนดอยู่ แต่นำไปใช้เป็นค่าตอบแทนอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตีค่าเสื่อมราคาที่มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว แต่อาจมีบางเรื่องที่ สปสช.ดำเนินการไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การตีค่าเสื่อมราคา และเรื่องที่ สปสช.นำเงินไปใช้โดยไม่อยู่ในหน้าที่ที่จะดำเนินการ อาทิ เรื่องการป้องกันโรค ที่บางคนเห็นว่าควรนำเงินไปใช้ในการป้องกันมากกว่าการรักษา ขณะที่บางคนมองว่าเงินดังกล่าวนำไปใช้อย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเงินสำหรับการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่การใช้เงินผิดประเภท แต่วัตถุประสงค์ของการใช้นั้นคลุมเครือ ซึ่งจะต้องนำประเด็นเหล่านี้มาสอบสวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร จากนั้นจะรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และ ครม.รับทราบในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ขณะนี้ผลการสอบเบื้องต้นออกมาแล้ว
นายยงยุทธยังแถลงผลการประชุมคณะทำงานเกี่ยวกับการปรับปรุงวิธีการประเมินคุณภาพสถานศึกษา รอบที่ 4 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่ต้องดำเนินการทุก 5 ปี โดยประเมินสถานศึกษาทุกแห่งทำให้สถานศึกษามีภาระงานเป็นจำนวนมากและส่งผลถึงประสิทธิภาพของการวัดผลการศึกษา ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรยกเลิกการประเมินแบบเดิมที่ต้องไปประเมินตามโรงเรียนและสถานศึกษาต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก มาเป็นการใช้วิธีประเมินแบบออนไลน์ที่ไม่ต้องเดินทางไปประเมินที่โรงเรียน ทำให้ลดภาระงานแก่ครู โดยระบบดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการที่จะใช้เวลาเตรียมการประมาณ 6 เดือน นับจากครบกำหนดประเมินในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบใหม่ได้ในการประเมินรอบที่ 4 ในเดือน เม.ย. 2559 ยกเว้นโรงเรียนที่มีปัญหาผิดปกติสามารถเข้าไปประเมินในเชิงลึกเพื่อช่วยเหลือเป็นรายกรณี นอกจากนี้ยังจัดระบบใหม่ ให้มีการเปิดรับการประเมินโดยสมัครใจที่จะนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษา และการประเมินเพื่อพัฒนาโรงเรียนและสถานศึกษาบางกลุ่มที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การปฏิรูปของกระทรวงหรือรัฐบาล หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากหรือโรงเรียนขนาดเล็ก
“การรื้อระบบประเมินสถานศึกษาของ สมศ.จากรูปแบบเดิมที่ต่องลงพื้นที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ ต้องลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนซึ่งอาจทำให้เกิดภาระแก่ครู แต่วิธีประเมินใหม่โดยใช้เครื่องมือออนไลน์จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ และยังทำให้ครูไม่ต้องมีภาระที่จะต้องเตรียมเอกสารจำนวนมาก โดยระบบประเมินแบบใหม่ไม่ใช่การลงโทษแต่จะช่วยสถานศึกษาที่มีปัญหาด้านคุณภาพจะมีระบบเข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้สถานศึกษาเกิดประสิทธิภาพในการบริหารงาน ทั้งนี้ผมจะรายงานต่อที่ประชุม ครม.รับทราบการดำเนินการดังกล่าวต่อไป” นายยงยุทธกล่าว