xs
xsm
sm
md
lg

“โรคซึมเศร้า” รักษาต่อเนื่องป้องกันป่วยซ้ำ แนะ “แตงโม” ลดใช้โซเชียลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จิตแพทย์ชี้ “ป่วยซึมเศร้า” ต้องรักษาต่อเนื่อง ช่วยป้องกันป่วยซ้ำ ลดอัตราฆ่าตัวตาย แนะ “แตงโม” ลดใช้โซเชียลฯ หวั่นตีความคำวิพากษ์วิจารณ์ทางลบกระทบจิตใจ เผยป่วยซึมเศร้าแสดงออกดึงอารมณ์ตกต่ำหลายแบบ

วันนี้ (8 ก.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากโรคซึมเศร้า ซึ่งจากการประเมินคาดว่าคนไทยมีภาวะโรคซึมเศร้าร้อยละ 2.3 หรือประมาณ 1.2 ล้านคน แต่จากการเฝ้าระวังค้นหาด้วยการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง 12 ล้านคน พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 5 แสนราย โดยอาการที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความรู้สึกหดหู่ เศร้า ท้อแท้สิ้นหวัง และ รู้สึกเบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินเหมือนอย่างที่เคยเป็น นอกจากนี้ อาจมีในเรื่องของสมาธิที่ไม่ดี เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมากเกินไป มีความคิดเห็นในแง่ลบมาก มุมมองความรู้สึกต่อตัวเองแย่ลงอย่างมาก จนบางคนมีความคิดฆ่าตัวตาย

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อาการของโรคซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบเป็นวงรอบ อาจเริ่มต้นด้วยอาการเล็กน้อย ไม่ชัดเจน ทำให้วินิจฉัยได้ยาก เจ้าตัวก็มักไม่รู้ตัว และอาการจะต่อเนื่องจนชัดเจนขึ้น จนถึงจุดที่อารมณ์เต็มเกิดความคิดทางลบ และความคิดฆ่าตัวตาย หากได้รับการรักษาอารมณ์ซึมเศร้าก็จะลดลงมาเป็นปกติ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีก ทั้งนี้ การรักษาสามารถทำได้โดย 1. การใช้ยาต้านอารมณ์เศร้า ซึ่งไม่ใช่ยานอนหลับอย่างที่เข้าใจ การใช้ยานอนหลับจะใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับรุนแรง 2. การทำจิตบำบัดเพื่อปรับวิธีคิดในแง่ลบ และ 3. คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมในการช่วยให้กำลังใจ ซึ่งต้องดำเนินการไปควบคู่กันทั้ง 3 วิธี ซึ่งต้องรักษาอย่างต่อเนื่องประมาณ 1 - 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ยังเป็นปัญหาคือบางคนรักษาได้เพียง 2 - 3 เดือน เมื่ออาการดีขึ้นก็หยุดการรักษา ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง และอาการกลับมาอีกเมื่อถูกแรงกระทบต่อชีวิตก็ไม่สามารถรับมือได้ไหว ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า คนที่รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยยืดวงรอบของโรคซึมเศร้าออกไป หรือไม่กลับมาเป็นซ้ำ และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายไม่ถึง 2% น้อยกว่าคนที่ไม่ได้รับการรักษาที่มีโอกาสฆ่าตัวตายถึง 30% สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าที่ต้องใช้เวลารักษาเป็นปี เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของดาราสาวแตงโมที่ยอมรับว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีการโพสต์ข้อความต่าง ๆ ลงในอินสตาแกรม บางคนมองว่าอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การแสดงออกความรู้สึกเศร้ามีหลายรูปแบบ บางคนอาจกินมากผิดปกติ หรืออย่างเด็กวัยรุ่นอาจเลือกใช้ชีวิตแบบโลดโผน เช่น ขับรถเร็ว เพื่อกระตุ้นอารมณ์ตกต่ำของตัวเองให้กลับคืนมา หรือบางกลุ่มก็ใช้เรื่องทางเพศมากระตุ้นอารมณ์ ส่วนเรื่องเรียกร้องความสนใจนั้น ความต้องการความสนใจถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ แต่ต้องเรียนรู้วิธีการและขอบเขตที่จะเรียกร้องความสนใจด้วย เพราะบางทีรูปแบบการแสดงออกอาจไม่ถูกใจผลลัพธ์ก็จะเป็นลบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องเลิกใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียในผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น มีการนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ค่อยแสดงออก เพื่อกระตุ้นการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม ข้อความต่าง ๆ ในโซเชียลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีโอกาสตีความไปในแง่ลบ ก็จำเป็นต้องลดการใช้ลง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น