อึ้ง! ไทยพบปัญหาสุขภาพจิตจากการการดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติดมากที่สุดถึง 19.6% มากกว่าสหรัฐฯ ระบุใช้กัญชามากที่สุด ส่วนยานอนหลับติดอันดับด้วย
นพ.นพพร ตันติรังสี โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวถึงการสำรวจระบาทวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี 2556 ซึ่งสำรวจทุก 5 ปี ในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 ว่า จากการสำรวจพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตจากการใช้สุราพบมากถึงร้อยละ 18.0 หรือ 9.3 ล้านคน ความชุกของโรคซึมเศร้าในตลอดช่วงชีวิต ร้อยละ 1.8 หรือ 0.9 ล้านคน แต่เมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพศ พบว่า ผู้หญิงมีความชุกของโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และวิตกกังวล สูงกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายพบความชุกของปัญหาการใช้สุรา ยาเสพติด และการพนันสูงกว่าผู้หญิง และเมื่อเปรียบเทียบความชุกของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้เครื่องมือมาตรฐานสากลเดียวกัน พบว่า ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด ประเทศไทยมีความชุกสูงสุด ร้อยละ 19.6 รองลงมา คือ ยูเครน ร้อยละ 15 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 14.6 แอฟริกาใต้ ร้อยละ 13.3 และ ญี่ปุ่น ร้อยละ 4.8
นพ.นพพร กล่าวว่า นอกจากนี้ ตลอดช่วงชีวิตพบคนไทยเคยใช้สารเสพติดชนิดผิดกฎหมาย โดยเป็นกัญชามากที่สุด รองลงมา คือ กลุ่มยาที่ใช้เพื่อความบันเทิง เช่น ยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ ยาเค ฯลฯ และ ยานอนหลับที่แพทย์ไม่ได้สั่ง หรือใช้เกินกว่าที่แพทย์สั่ง และที่สำคัญ จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ประชาชนคนไทยที่เคยป่วยด้วยโรคจิตเวชใดๆ เคยเข้ารับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ เพียงร้อยละ 15.1 สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงบริการของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการสร้างความรู้ ความตระหนักให้กับประชาชนคนไทยเข้าใจถึงปัญหาสุขภาพจิตและยอมรับการรักษามากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่