“ทุกที่เมื่อมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ย่อมเกิดความขัดแย้งเป็นธรรมดา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งเดิมซ้ำกับคนรุ่นหลัง คือ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย” คำบอกเล่าของ “ทิพย์” หรือปานทิพย์ สมบัติเปี่ยม ภายหลังจากการลงพื้นที่เยือนกัมพูชาเป็นครั้งแรกในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในสมาชิกจากโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม รุ่นที่ 2 โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ทิพย์” เยาวชนนักเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในฐานะลูกอีสาน ด้านการส่งเสริมสิทธิชุมชน ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาอาสาสมัครรุ่นใหม่กับเพื่อนๆ และต่อยอดการเรียนรู้และอบรมเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านพัฒนาสังคมในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเธอตัดสินใจเลือกประเทศกัมพูชา เพราะสนใจประวัติศาสตร์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกิจกรรมทางสังคมที่เน้นการต่อสู้เชิงสันติวิธี
ตลอดเวลาที่ มอส. นำทีมเยาวชนจำนวน 28 ชีวิตลงพื้นที่เยี่ยมชมประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 8 - 12 มิถุนายน ทิพย์และเพื่อนได้เรียนรู้เยี่ยมชมองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวบรวมประวัติศาสตร์และการสืบสวนสอบสวนคดีความจากยุคเขมรแดง โตลเสลง (ToulSleng Genocide Museum) พิพิธภัณฑ์ชีวิตแห่งสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวเขมรในยุคเขมรแดงที่เคยเป็นเรือนจำควบคุมนักโทษที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเขมรแดง พื้นที่อดีตทุ่งสังหาร (Killing field) สลัมบึงกอก กรุงพนมเปญ และชุมชนริมทะเลสาบน้ำจืดโตนเลสาปในหมู่บ้านกัมปงพรุก จังหวัดเสียมราฐ ตลอดจนดินแดนแห่งอารยธรรมในยุคขอมอย่างปราสาทนครวัด ทุกที่ที่ได้สัมผัสเธอมองเห็นจุดร่วมระหว่างสังคมมนุษย์ที่สามารถสร้างความสุขได้ นั่นคือ การอยู่ร่วมกันของสังคมบนหลักการสำคัญ ได้แก่ กระจายทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม และการให้ความไว้วางใจกันและกันบริหารชุมชนอย่างเท่าเทียม ซึ่งต่างจากยุคเขมรแดงที่มีความระแวดระวังฝ่ายการเมือง การปกครอง ความไม่ไว้ใจระหว่างกันนำมาซึ่งความขัดแย้งและก่อเกิดเป็นสงครามเมือง ส่งผลให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของอำนาจแต่ละฝ่าย
“หลังจากดูประวัติศาสตร์เขมรแดงแล้ว ไม่ได้โกรธหรือเกลียด แต่ทำให้มองเห็นถึงความอยากได้ อยากมี อยากครอบครอง เมื่อความอยากเข้าครอบคลุมหัวใจ คนก็สามารถทำร้ายกันได้ แต่เมื่อมาดูชุมชนกัมปงพรุก หนูถามชาวบ้านว่าจ่ายค่าไฟเท่าไหร่ ได้รับคำตอบว่าจ่ายแพงกว่าคนในเมืองเพราะการสร้างไฟฟ้าสายส่งในพื้นที่มีการลงทุนโดยเอกชน เช่นเดียวกับการสร้างถนน และขุดลอกคลองบางแห่งในชุมชน เพราะบ้านเขาอยู่ไกลความเจริญ ติดแม่น้ำ ทะเลสาบ เข้าไป ทั้งที่รายได้ก็น้อยกว่าคนในเมือง ซึ่งเป็นช่องโหว่ของการบริหารทรัพยากร แต่ทำไมจึงไม่เกิดความขัดแย้ง พอได้คำตอบจากชาวบ้านที่ชัดเจนก็ทราบว่า ชุมชนมองเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันและกันเป็นหลัก ชาวประมงยังต้องขายปลาให้คนเมืองทั้งชาวกัมพูชา และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเองก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก หากแต่ดำรงชีวิตอยู่ตามปัจจัยที่มีและไม่รู้สึกอิจฉา หรือน้อยใจชีวิตคนเมือง ชาวบ้านส่วนมากจึงพึงพอใจกับการอยู่ในชุมชนอย่างพอเพียง แต่ปัจจัยที่ต้องเพิ่มเติมคือ เรื่องของการศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าหากคนรุ่นใหม่ในชุมชนกัมปงพรุกมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น มากกว่าจบแค่ชั้น ป.6 ก็อาจทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้าหนูมีโอกาสเจอชุมชนที่เข้มแข็งเหมือนกัมปงพรุกในอนาคต หนูอาจจะอาสาเป็นครูสอนเด็กๆ ก็ได้ เชื่อว่าจะช่วยให้ชุมชนดีขึ้นอย่างแน่นอน” ทิพย์ เล่าถึงความประทับจากกิจกรรมลงพื้นที่และเป้าหมายในชีวิตอาสาสมัคร
ขณะที่ “บิ๊ว” กชกร ความเจริญ นิสิตสาวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า หลงใหลในกิจกรรมการลงพื้นที่ประเทศกัมพูชาอย่างมาก และดีใจที่ มอส. เปิดรับเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม แม้เธอรู้จัก มอส.ผ่านอินเทอร์เน็ตและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้เพียงปีเดียว แต่สิ่งที่ได้ทำวันนี้มีคุณค่ามาก เพราะที่ผ่านมาเธอรับรู้ประวัติศาสตร์กัมพูชาเพียงแค่ในตำรา และมิติการท่องเที่ยว แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่ได้ฟังเสียงของเครือข่ายภาคประชาชน หรืออาสาสมัครรุ่นใหญ่ อย่างเช่น ยุกชาง ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกัมพูชา (The Doccumentation Center of Cambodia : DC-CAM) ทำให้กิจกรรมการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นดั่งห้องเรียนขนาดใหญ่ที่มีอาจารย์อาวุโสหลายท่านเข้ามาให้ความรู้ โดยส่วนตัวไม่มั่นใจว่าจะทำหน้าที่อาสาสมัครได้นานเพียงใด แต่ยืนยันว่าจะตั้งใจทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ที่สุด
“การลงพื้นที่ทุ่งสังหาร คุก ชุมชนแออัด และสภาพชนบทกัมพูชา มีทั้งความรู้สึกสงสาร หดหู่ กลัว ผสมผสานกัน แต่อีกแง่มุมทำให้เรียนรู้อย่างรอบด้านและรู้จักวิเคราะห์ปัญหาแบบแยกแยะ ไม่เหมารวมว่าใครผิด ใครถูกและไม่เชื่อข้อมูลจากใครง่ายๆ อย่างที่หนูฟังลุง ยุกชาง พูดถึงการเปลี่ยนชีวิตจากเป็นตำรวจมาเป็นนักสืบคดีความเพื่อคืล้างแค้นแก่ครอบครัวที่สูญเสียไปในยุคเขมรแดง แต่เกิดเปลี่ยนใจเมื่อฟังแม่เล่าเรื่องในอดีตที่เกิดขึ้นและสอนให้เขารู้จักอภัย รู้จักมีเหตุผล รู้จักความสมานฉันท์ ทำให้กลายมาเป็นอาสาสมัครของสหประชาชาติ และรวบรวมข้อมูลของเขมรแดงอย่างรอบด้านเพื่อพัฒนาเป็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ แม้จะยังไม่สำเร็จเต็มร้อย แต่ตอนนี้ข้อมูลขององค์กรพัฒนาเอกชนฯ ก็ช่วยเยาวชนอย่างหนูมองเห็นภาพหลากมิติ และเข้าใจบริบทกัมพูชาในสังคมแต่ละยุคได้ โดยไม่มีอคติกับเขมรแดงเหมือนในอดีต หนูว่าเป็นความรู้ที่เหมาะแก่การเผยแพร่ หากเลือกได้อยากจะกลับไปทำกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะบ้าง อาจจะต้องใช้เวลา และพยายามหาความรู้อย่างรอบด้านไม่ฉาบฉวย” บิ๊ว ตั้งปณิธาน
โสคานี ปรัก ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือภาคประชาสังคมประเทศกัมพูชา (Cambodian Civil Society Partnership : CCSP) และ อดีตเด็กหญิงผู้คุมในยุคเขมรแดง กล่าวระหว่างการบรรยายกิจกรรมภาคประชาชนด้วยการใช้สันติวิธี แก่กลุ่มเยาวชนไทย ว่า ขณะที่เธอถูกเขมรแดงบังคับให้ทำงาน เธอเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันถูกบังคับขนอาวุธ บังคับแต่งงานและดูแลนายทหารมากมาย เห็นคนถูกฆ่าถูกทำร้ายสารพัด เมื่อมีโอกาสจึงหนีรอดและมีวันนี้ เธอค้นพบว่า เหตุการณ์ในอดีตเป็นดั่งบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นและสร้างแผลลึกในใจของทุกคน ขณะหนึ่งของชีวิตเธอไม่อาจให้อภัยคนในกองทัพเขมรแดงได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเธอลองผิดลองถูก เพื่อสร้างปัจจุบันให้เยาวชนกัมพูชาไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครอง และเยาวชนคนอื่นๆ ในต่างประเทศก็ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจฝ่ายใด ทั้งนี้ เริ่มแรกของการฝึกงานพัฒนาสังคม เธอพบว่า ช่วงที่นานาชาติมีความพยายามจะช่วยเหลือกัมพูชาและทุ่มเงินมหาศาลเพื่อติดตามคนผิดมาลงโทษ เป็นการกระทำหลายอย่างด้วยเงิน ด้วยทุนอย่างเดียวแต่กลับไม่มีผลสำเร็จที่ดีขึ้นมากนัก เพราะสังคมไม่เข้มแข็ง ต่อมาจึงเริ่มคิดวิธีเยียวยาใจของคนกัมพูชาทั้งฝ่ายที่เคยเป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำที่รอดชีวิต ด้วยการนำธรรมะตามหลักศาสนาพุทธ และหลักเมตตาธรรมมาใช้ฝึกจิตใจควบคู่กับการฝึกเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีการศึกษาเข้าใจประวัติศาสตร์คนในบ้าน นอกบ้าน เพื่อป้องกันการเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
โสคานี อธิบายเพิ่มเติมว่า เธอดีใจที่วันนี้เยาวชนนานาชาติรวมทั้งไทยเข้ามาเรียนรู้เครือข่ายภาคประชาชนในกัมพูชาหลังม่านหมอกแห่งความเลวร้ายผ่านไป และเชื่อมั่นว่าหากเยาวชนทุกคนต่างมีจิตใจเข้มแข็ง ฝึกเยียวยาจิตใจให้เข้าใจหลักการเมตตา เข้าใจเหตุผลของความขัดแย้ง จะช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาของความโกรธและเปิดโอกาสเรียนรู้ในความต่างความเหมือนแต่ละสังคมได้ โดยส่วนตัวมองว่า เยาวชน คือ ผลผลิตสำคัญของโลกเพราะเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ และอยากให้เยาวชนไทยใช้บทเรียนของกัมพูชาประยุกต์ให้เข้ากับเหตุการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยและสังคมอื่น เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมร่วมกันไม่เอาเปรียบกัน
ด้าน สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เจ้าของโครงการ กล่าวว่า สังคมมีความขัดแย้งแทบจะทุกบริบท ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากร แต่จะทำอย่างไรให้เยาวชนเข้าใจและสามารถวิเคราะห์สังคม ในฐานะประชากรรุ่นใหม่เป็นเรื่องยาก ยิ่งสังคมที่แตกต่างทางภาษา วัฒนธรรมด้วยแล้ว หากไม่มีการเรียนรู้เขา รู้เรา คนรุ่นใหม่อาจจะสับสนได้ว่าแท้จริงแล้ว ควรยึดหลักอะไรในการดำรงชีวิต ดังนั้น โครงการคนรุ่นใหม่ฯ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เยาวชนมีโอกาสฟังเสียงคนที่อาจคิดไมเหมือนกับเรา ฟังเสียงเพื่อนบ้านให้เข้าใจสังคมที่แตกต่างและหาจุดเหมือน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฐานะประชาชนอาเซียน หรือฐานะประชาชนโลก พวกเขามีสิทธิรับรู้เรื่องราวแบบรอบด้าน โดยเราเชื่อว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทยได้ และในอนาคตจะต้องมีการถ่ายทอดประสบการสู่รุ่นหลังด้วย
“ในสังคมสังคมยุคโลกาภิวัตน์การไปมาหาสู่ของประชาชนข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ง่ายของประชากรไร้ขีดจำกัด การสร้างความเป็นเพื่อน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเคารพในความหลากหลาย ทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ การเมือง ชาติพันธุ์ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เพื่อให้ความขัดแย้งในสังคมลดลง” สุภาวดี กล่าวย้ำ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่