หนึ่งในมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาแพง ด้วยการขึ้นป้ายแสดงราคายา และ จะขายยาเกินราคาในป้ายไม่ได้ นับได้ว่าเป็นการจ่ายบอลสั้นที่ดำเนินการได้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม พื้นที่ว่างซึ่งควรวิ่งขึ้นหน้าต่อไป คือ การพัฒนาแนวทางในการพิจารณาเพื่อให้ราคาป้ายมีความเหมาะสม เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย และการพัฒนาระบบการกำกับการรักษาและการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล
โดยทั่วไป หากผู้บริโภคจะซื้อสินค้าใด ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์จะพิจารณาภายใต้ข้อสมมติฐานที่ว่า ผู้บริโภคมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น แต่ในเรื่องการบริโภคทางสุขภาพเป็นที่ยอมรับกันว่า ผู้บริโภคมีความรู้ที่ไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับการบริโภคสินค้าอื่นในตลาด จึงเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะเลือกบริโภค บริการทางการแพทย์อย่างมีเหตุผล
การที่กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาแทรกแซงราคายา ทั้งที่เป็นตลาดในภาคเอกชน เนื่องจาก ยา เป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ ต่างจากสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วยมีไม่เท่าเทียมกัน และไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ผู้ให้บริการมีข้อมูลข่าวสารมากกว่าผู้ป่วย ผู้ให้บริการจึงสามารถเหนี่ยวนำให้ผู้รับบริการเกิดอุปสงค์ตามความเห็นของผู้ให้บริการ
ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลอาจพิจารณาได้ใน 2 ประเด็น ได้แก่
1. ความไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับข้อมูลด้านราคา ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะแสวงหาการรักษาและรับการรักษาเมื่อป่วย ก่อนที่จะทราบราคาของการรักษาพยาบาล ดังนั้น การตัดสินใจของผู้ป่วย จึงเป็นการตัดสินใจที่ขาดข้อมูลด้านราคา
2. ความไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับข้อมูลด้านคุณภาพของการรักษา และผลการรักษาที่จะมีผลต่อสุขภาพของเขา ส่งผลให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดสินใจซื้อบริการรักษาพยาบาล ทั้งที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอในการใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อบริการพยาบาลนั้น ๆ
ข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในประเด็นการควบคุมราคายา โดยระบุให้ รพ.เอกชน ต้องติดป้ายราคาขายยาทุกชนิด และจะขายยาเกินราคาในป้ายไม่ได้ รวมทั้งการแสดงราคาในใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาล และหากผู้ป่วยเห็นว่าราคายาสูงเกินไป ผู้ป่วยสามารถขอใบสั่งยา ออกไปซื้อยาจากร้านขายยาภายนอกเองได้ ถือเป็นมาตการที่เพิ่มข้อมูลราคายาให้กับผู้ป่วย และเปิดช่องให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจด้วยตนเองเพิ่มขึ้น
คำถามต่อเนื่อง คือ
กระทรวงพาณิชย์จะมีแนวทางในการพิจารณาความเหมาะสมของราคาป้ายที่แสดงได้อย่างไร
กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มช่องทางการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพการรักษาแก่ผู้ป่วยได้อย่างไร
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่