คนแห่ขาย “อาหารเสริม - เครื่องสำอาง” ใน “เฟซบุ๊ก-ไลน์-ไอจี” เหตุเป็นเว็บต่างประเทศ ไม่ต้องขออนุญาต ก.พาณิชย์ สังเกตความน่าเชื่อถือยาก เอาผิดได้แค่ฉ้อฉลผู้บริโภค โฆษณาผิดกฎหมาย อย. อึ้ง! พบทำผิดเพียบ บก.ปคบ. เฝ้าจับตา 80 เว็บไซต์ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการควบคุมกันเอง ย้ำ “ยา” ห้ามขายทางเน็ต เร่งคลอดคำห้ามโฆษณา หวังประชาชนรู้เท่าทัน สกัดบล็อกเกอร์รีวิวสินค้าเกินจริง
วันนี้ (9 มิ.ย.) ในการประชุมหารือเพื่อแก้ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่ออินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีตัวแทนจากสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมโฆษณาดิจิตอล (ประเทศไทย) สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วม โดย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายตามสื่อต่างๆ นั้น พบว่า สื่อสิ่งพิมพ์พบการกระทำผิดลดลง ส่วนสื่อทีวีดาวเทียมและวิทยุกระจายเสียงที่พบมากนั้น ขณะนี้มี กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้ามาร่วมเฝ้าระวังและดำเนินการเอาผิดแก่ผู้ประกอบการ สำหรับช่องฟรีทีวีนั้นมีคณะกรรมการร่วมในการคัดกรองโฆษณา จึงมักพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายน้อยมาก แต่ที่มีแนวโน้มพบการโฆษณาผิดกฎหมายมากขึ้น นั้นคือ สื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะยังไม่มีกลไกในการดูแลควบคุม
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในทีวีดาวเทียม พบว่า ที่มีการโฆษณาผิดกฎหมายบ่อยครั้งมีทั้งหมด 53 ช่อง ซึ่ง กสทช. ได้สั่งให้ทั้ง 53 ช่องส่งเทปออนแอร์ตลอด 24 ชั่วโมงมาให้มอนิเตอร์ เพื่อคัดกรองว่ามีการโฆษณาผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าเข้าข่ายจะส่งให้ อย. ฟันธงอีกครั้ง หาก อย. ฟันธงว่าผิดจริงก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายที่ อย. มี และส่งเรื่องให้ กสทช. เอาผิด ซึ่งมีทั้งพักใช้ใบอนุญาต ไปจนถึงถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ อย. จะคอยเฝ้าระวังช่องที่พบการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องด้วย สำหรับการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพบนอินเทอร์เน็ตนั้น มี 3 รายการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ สารผลิตภัณฑ์สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทางการแพทย์ และยา เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนใช้ หากมีการโฆษณาขายในอินเทอร์เน็ตถือว่าผิดกฎหมาย
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร อาหารเสริม เครื่องมือแพทย์ หรือวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน สามารถโฆษณาขายบนอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการจดแจ้ง หรือขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่ปัจจุบันพบว่ามีการโฆษณาผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งการควบคุมถือเป็นเรื่องยาก เพราะมีจำนวนมาก แต่การดูแลสอดส่องยังไม่ทั่วถึง โดย บก.ปคบ. กำลังติดตามเว้บไซต์ที่ทำความผิดอยู่ประมาณ 80 เว็บ
ด้าน นายสมเกียรติ ไชยศุภรากุล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การขายของทางอินเทอร์เน็ตจะต้องขออนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อน ซึ่งจะได้รับเครื่องหมาย DBD Register อยู่บนหน้าเว็บไซต์ ถือเป็นจุดสังเกตเบื้องต้นให้แก่ประชาชนที่จะซื้อของทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลังจากที่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าวแล้วภายใน 1 ปี หากไม่ดำเนินการผิดกฎหมาย ขายตามหลักเกณฑ์ที่เป็นจริง มีความเชื่อถือได้ มีระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย ป้องกันข้อมูลรั่วไหล ก็จะได้รับเครื่องหมาย DBD Verify ซึ่งขณะนี้มี 170 รายที่ได้รับเครื่องหมายไปแล้ว
“การขายของทางอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียถือเป็นช่องทางใหม่ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างมาก ขณะที่ภาครัฐยังตั้งรับไม่ทัน กฎหมายที่มีอยู่ยังครอบคลุมแค่เว็บไซต์ของไทย แต่การขายของออนไลน์ที่มีมากถึง 2 แสนรายนั้น ส่วนใหญ่เป็นการขายในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เป็นต้น ซึ่งเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ ถือเป็นช่องว่างที่ผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาต ส่วนใหญ่จึงนิยมมาขายในสื่อเหล่านี้ การเอาผิดต่างๆ จึงยาก ทำได้แค่เพียงเอาผิดในเรื่องการฉ้อฉลผู้บริโภคของ สคบ. หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของ อย. ดังนั้น การดูแลเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายขณะนี้ยังคงต้องอาศัยการควบคุมกันเอง และขอความร่วมมือ โดยประชาชนต้องช่วยแจ้งข้อมูลว่ารายใดมีการโฆษณาผิดกฎหมาย มิเช่นนั้นจะทำให้การขายของออนไลน์ขาดความน่าเชื่อถือ” นายสมเกียรติ กล่าวและว่า ข้อแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ผู้บริโภคต้องศึกษาให้มาก ส่วนการพิจารณาร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถดูได้จาก 1. ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพหรือไม่ 2. การชำระเงินปลอดภัยหรือไม่ 3. มีนโยบายคืนสินค้าหรือไม่ และ 4. ชื่อเสียงของเว็บไซต์ดังกล่าว
เมื่อถามถึงกลุ่มบล็อกเกอร์ที่มีการรีวิวสินค้า เช่น เครื่องสำอาง จะสังเกตว่าเป็นโฆษณาผิดกฎหมายหรือโฆษณาเกินจริงอย่างไร นพ.บุญชัย กล่าวว่า อย. ได้ออกประกาศการใช้ข้อความโฆษณาอาหาร เครื่องสำอาง และยา ว่ามีคำต้องห้ามอะไรบ้าง อยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และประกาศลงบนเว็บไซต์ เพื่อเป็นหลักการให้แก่ประชาชนได้รับรู้ ซึ่งบล็อกเกอร์ก็จำเป็นต้องศึกษาในคำต้องห้ามเหล่านี้ด้วย เช่น ช่วยให้ขาวเวอร์ เช่นนี้ไม่สามารถโฆษณาได้ หากมีการใช้คำเหล่านี้ก็ถือว่ามีโทษโฆษณาเกินจริง เอาผิดเท่าผู้ประกอบการเช่นกัน ส่วนในอนาคตจะมีการพัฒนาฐานข้อมูลคำขออนุญาตการโฆษณา ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตโฆษณาก่อน เช่น ยา ให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าที่โฆษณาไปกับคำขออนุญาตตรงกันหรือไม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่