นักวิจัยชี้ประเทศไทยใช้ “รถเมล์ไฟฟ้า” ยังอีกไกล จับตาผลการทดลองวิ่งของ ขสมก. ย้ำหากคุณภาพรถไม่ได้มาตรฐาน ระบบบริการแย่ แต่ค่าโดยสารแพงกว่า ถือว่าไม่คุ้มค่า ไม่ตอบโจทย์ประชาชน ด้านผู้พิการวอน คมนาคมออกประกาศรถสาธารณะทุกประเภทเป็นรถชานต่ำ
นายสุเมธ วงศ์พานิชเลิศ ผู้อำนวยการวิจัยด้านโทรคมนาคม ฝ่ายวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงกรณี ขสมก. ทดลองวิ่งรถเมล์ไฟฟ้า 3 เส้นทาง เป็นเวลา 16 วัน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร เพื่อวิเคราะห์ผลดีและข้อจำกัดต่างๆ หากมีการนำรถดังกล่าวมาใช้ในไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และเป็นอีกทางเลือกในการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ก็สนับสนุนที่จะมีการดำเนินการ แต่การจะนำมาขยายผลนำมาใช้จำนวนมากๆ แทนรถเมล์แบบเดิมที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น ยังเป็นเรื่องระยะยาว และจะต้องรอผลการศึกษาในการทดลองวิ่งดูก่อน ว่า มีปัญหาใดหรือไม่ อัตรารถเมล์ไฟฟ้าเสีย รถดับกลางทาง เนื่องจากพลังงานหมด เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัด
นายสุเมธ กล่าวว่า การจะขยายผลนำรถเมล์ไฟฟ้ามาใช้ ต้องตอบโจทย์ประชาชนในเรื่องคุณภาพการบริการก่อน ก่อนที่จะมองไปในเรื่องของประหยัดพลังงาน หรือรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเทคโนโลยีสามารถพัฒนาขึ้นได้ เพราะหากต้นทุนรถเมล์ไฟฟ้ามีราคาสูง แต่การบริการไม่ได้ต่างไปจากรถุเมล์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และต้องเก็บค่าโดยสารที่แพงกว่าก็มองว่าคงไม่คุ้มที่จะนำมาวิ่งให้บริการเท่าไรนัก ในเรื่องของคุณภาพการบริการที่ต้องใส่ใจ คือ รถเมล์ไฟฟ้ามีความพร้อม คุณภาพดี มีมาตรฐาน รวมไปถึงคนขับรถเมล์ไฟฟ้าต้องมีการฝึกอบรมวิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการขับ รวมไปถึงขับอย่างไรให้ปลอดภัย หากสามารถทำตรงนี้ได้ดี ก็น่าจะตอบโจทย์ประชาชน ต่อให้ราคาแพงขึ้นคนก็พร้อมใช้บริการ อย่างไรก็ตาม การจะนำมาขยายผลยังเป็นเรื่องระยะยาว
“ส่วนการออกแบบรถเมล์ไฟฟ้าเป็นแบบรถชานต่ำเพื่อรองรับผู้พิการนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะนำมาใช้จริง สภาพปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยจะต้องมีการแก้ไขเพื่อรองรับด้วย ทั้งฟุตปาธ สะพาน สภาพถนน ต้องรองรับ ดังนั้น การเริ่มใช้รถเมล์ไฟฟ้าอาจเริ่มนำร่องจากพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมก่อน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ต้องประสานท้องถิ่น เช่น กทม. เทศบาลตามปริมณฑลให้มีการปรับปรุงให้พร้อมรองรับ” นายสุเมธ กล่าว
ด้านนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้พิการที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะนั้นอยากให้กระทรวงคมนาคมออกประกาศบังคับให้รถขนส่งสาธารณะทุกประเภทต้องเป็นรถแบบชานต่ำทั้งหมด เพื่อรองรับผู้พิการ ส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มองว่า ต้องค่อยๆ ปรับแก้ไขให้เหมาะสมกับรถ ซึ่งการแก้ไขขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เชื่อว่า จะประสบความสำเร็จ โดยขณะนี้ก็เห็นว่ามีคณะทำงานในการดำเนินการอยู่ ซึ่งเราคนพิการก็ยินดีที่จะรอ ขอเพียงจริงใจในการแก้ปัญหาในเรื่องการเดินทางวสำหรับผู้พิการ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่