นายกฯ ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ มอบหมาย “สุวพันธุ์” ทำความเข้าใจมาตรา 44 สั่ง “หม่อมอุ๋ย” แก้ปัญหาเอสเอ็มอี พร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรายไตรมาสตามแผน อีกด้านสั่งตรวจสอบการรับซื้อยางพาราตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน “ยงยุทธ” เชื่อตรวจสอบ สปสช. ทัน 15 วัน
วันนี้ (1 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล ต่อมาเวลา 16.30 น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมนายกฯ ได้มอบหมายให้ นายสุวพันธุ์ ตัณยุวรรธณะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในระยะที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งสร้างความใจในการใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี โดยเร่งขึ้นทะเบียนให้ครอบคลุมและครบถ้วน รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน และพิจารณาขยายวงเงินกู้ให้เหมาะสม
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมยังมอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รวมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายไตรมาส ให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้กระทรวงมหาดไทย สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินการอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สนับสนุนและผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมครบทั้ง 5 แห่ง และเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ และพิจารณาให้สิทธิการเช่าพื้นที่การลงทุนสำหรับเอกชนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการรับซื้อยางพาราตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน เพื่อสร้างเสถียรภาพยางพาราให้มีความเป็นธรรมและทั่วถึง และยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังให้ตรวจสอบปัญหาความล่าช้าของโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันและเกษตรกรแปรรูปยางพาราที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ติดตามสรุปผลการดำเนินงานของ คตร. ในช่วง มิ.ย. 57- มี.ค. 58 ในโครงการที่มีวงเงินสูง จำนวน 45 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ตรวจสอบจนได้ข้อยุติแล้ว โดยเจ้าของโครงการจะต้องทบทวนแก้ไขและดำเนินการต่อไปจำนวน 27 โครงการ อาทิ การดำเนินการของกองทุนเพื่อผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. 2556 การตรวจสอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีแดง เป็นต้น ส่วนโครงการที่ตรวจสอบแล้วแต่ยังติดตามความก้าวหน้าอยู่ 16 โครงการ อาทิ โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ของการบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,981 ล้านบาท โครงการจัดซื้อรถโดยสารโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ซึ่งการจัดหารถโดยสารปรับอากาศชานต่ำ 489 คันแรก ซึ่งกำหนดยื่นซองราคาในวันที่ 3 เม.ย. นี้ ส่วนโครงการที่ให้ยกเลิกการดำเนินโครงการจำนวน 3 โครงการ ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ การประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ และการบริหารกองทุนสนับสนุนพิเศษ และส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการกู้เงินฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่ง คสช.ได้จัดกำลังทหารในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การสวนยาง และติดตามความเคลื่อนไหวของมวลชนชาวสวนยาง ซึ่งไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ในพื้นที่
ด้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณกองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ขณะนี้ สปสช. ได้พูดคุยกับ รมว.สาธารณสุข โดยจะรายงานเมื่อมีความคืบหน้าเกิดขึ้น ซึ่งต้องตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป ส่วนกรอบระยะเวลา 15 วันนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะดำเนินการแล้วเสร็จทันหรือไม่ หากไม่ทันตามกรอบเวลา ต้องดูว่ามีเหตุผลรองรับได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ตรวจสอบเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วที่ร้องเรียนกันมา และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีข้อสังเกตและตรวจสอบ ซึ่งมีข้อมูลอยู่บ้างแล้ว เชื่อว่าในกรอบระยะเวลา 15 วันอาจจะเป็นไปได้
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า การตรวจสอบดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเฉพาะเรื่องของ สปสช. ที่มีหลายเรื่อง จึงต้องเห็นใจคณะทำงานดังกล่าวด้วย