xs
xsm
sm
md
lg

คุณพ่อคุณแม่มีวิธีช่วยลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร/ ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรคสมาธิสั้นในเด็ก จะเริ่มมีอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองที่มีผล
กระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียนรู้และการเข้าสังคม กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

- อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit)
- อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (Impulsivity)
- อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)

อาการโรคสมาธิสั้นในเด็กบางคนอาจจะมีอาการซนและอาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม เป็นอาการเด่น ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่ก็มีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นบางกลุ่มที่อาจจะไม่ซน แต่มีอาการขาดสมาธิในการเรียนรู้เป็นปัญหาหลัก ซึ่งมักพบได้พอๆ กันทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย

คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกที่มีสมาธิสั้นได้อย่างไรบ้าง

1. แก้ปัญหาการลืมและทำของหายประจำ เด็กสมาธิสั้นจะมีปัญหาเรื่องเวลาและการขาดรับผิดชอบในการเก็บสิ่งของต่างๆ เราจึงมักพบว่าเด็กสมาธิสั้นมักจะลืมเวลานัดหมายและมักทำของหายอยู่เป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกในเรื่องนี้ได้โดยช่วยฝึกลูกจัดระเบียบการจัดเก็บสิ่งของให้เข้าที่เข้าทาง ทุกๆครั้งที่ใช้งานสิ่งของใดเสร็จแล้วต้องฝึกให้เก็บเข้าที่ โดยอาจเขียนเตือนในกระดาษแปะไว้หรือเขียนที่บอร์ดติดไว้ในที่ๆลูกเห็นได้ ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีวิธีหนึ่ง

2.ร่วมมือกับคุณครู คุณพ่อคุณแม่ควรร่วมมือกับคุณครูในการช่วยแก้ไขปรับปรุงให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้น โดยอาจขอเบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางการติดต่อสื่อสารต่างๆ กับคุณครูไว้ใช้สามารถติดต่อกันได้สะดวกเพื่อจะปรึกษาหารือกับคุณครูเรื่องลูก หรือให้คุณครูสามารถติดต่อหาคุณพ่อคุณแม่ได้กรณีลูกมีปัญหาอะไรที่โรงเรียน ก็จะได้ช่วยกันแก้ไขได้ทันท่วงที
ภาพจาก www.medicthai.com
3. ชมเชยอยู่เสมอ เมื่อลูกทำงานใดสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชมเชยลูกทันที เด็กสมาธิสั้นบางคนมีอารมณ์หุนหันพลันแล่นและใจร้อน จึงมักต้องการคำชมในทันทีทันใดที่เขาทำสิ่งใดสำเร็จ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและทำให้เขาพยายามที่จะอยู่นิ่งและมีสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น

4. ให้รางวัล การให้รางวัลเป็นการเสริมแรงทางบวก ให้ลูกรู้สึกมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง ไม่ต้องให้เป็นสิ่งของมีราคาแพง แต่ให้เป็นของที่เด็กๆ ชอบ เช่น ขนม หนังสือนิทาน ของเล่น โดยให้เป็นการตอบแทนเมื่อลูกทำงานที่รับมอบหมายหรืองานที่ต้องรับผิดชอบเสร็จตามเวลาที่กำหนด

5. จัดสถานที่ต่างๆ ในบ้านให้เอื้ออำนวยต่อการปรับพฤติกรรมของลูกที่สมาธิสั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการบ้าน ที่อ่านหนังสือ ห้องนอนหรือห้องพักผ่อน ควรจัดให้เป็นที่ๆสงบเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน เป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะเด็กสมาธิสั้นจะขาดสมาธิได้ง่าย ดังนั้น เวลาทำกิจกรรมต่างๆ หรือเวลาพักผ่อนควรให้ลูกอยู่ห่างจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น เสียงจากโทรทัศน์ เสียงเด็กอื่นๆ เล่นกัน เสียงจากสัตว์เลี้ยง

6. ใช้นาฬิกาตั้งเวลาหรือที่เรียกว่า Timer เพื่อช่วยในการทำการบ้าน ดูหนัง เล่นของเล่น เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เพื่อลูกจะรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เพราะมีเสียงเตือนเพื่อไม่ให้ลูกหลงไปกับสิ่งที่มารบกวนสมาธิ แต่ต้องตั้งใจทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด

7. มีตารางประจำวันที่ชัดเจน จัดเวลาแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ เวลารับประทานอาหาร เวลาทำการบ้าน เวลาเล่น เวลานอน จะช่วยฝึกให้ลูกดำเนินชีวิตตามตารางที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นวิธีช่วยแก้อาการสมาธิสั้นได้ดี

8. เริ่มจากงานง่ายไปงานยาก เมื่อเห็นลูกสมาธิสั้น ยุกยิก วอกแวก เหม่อลอยและขาดสมาธิในการทำกิจกรรมใดก็ตามแต่ ให้ลองเริ่มต้นจากงานที่ง่ายที่มีรายละเอียดไม่ซับซ้อนก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มให้ยากขึ้นๆตามลำดับ แล้วค่อยเปลี่ยนกลับมาเป็นง่ายอีก เพราะจะทำได้ลูกสามารถทำงานต่างๆ ได้สำเร็จมากขึ้นและมีความสุขที่จะทำงานนั้นๆ และอยากจะริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะฝึกให้เขามีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ด้วย

การดูแลเลี้ยงลูกที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความรัก ความเข้าใจและความอดทนของคุณพ่อคุณแม่ให้มากๆ ก็จะช่วยทำให้สามารถปรับปรุงและแก้ไขอาการสมาธิสั้นของลูกให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
 
 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น