xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวป่า มีอะไรให้เด็กๆ ค้นหามากกว่าที่คิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอฟเอโอ และ องค์กรแพท จับมือกับชุมชนท้องถิ่นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืนที่จังหวัดกาญจนบุรี

กลุ่มนักเรียนจากกรุงเทพฯ และ กาญจนบุรี กว่า 40 ชีวิต ทั้งหญิงและชาย กำลังช่วยกันตักทรายทำถุงทรายและช่วยกันยกขึ้นรถกระบะกันอย่างขยันขันแข็ง ท่ามกลางอากาศ 30 กว่าองศา ช่วงหน้าร้อน จะว่าไปแล้ว ถือเป็นงานหนักทีเดียว เพราะแทนที่จะเลือกดูหนัง ฟังเพลง เดินห้างเหมือนตามประสาเด็กวัยรุ่น วัยฮอร์โมนทั่วๆ ไป แต่เด็กๆ เหล่านี้เลือกมาเรียนรู้และช่วยกันเตรียมอุปกรณ์สำคัญสำหรับนำไปสร้างฝายกั้นน้ำในพื้นที่ป่าชุมชนพุเตย - พุลาด อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการเด็กเพื่อผืนป่า (Kids-to-Forests) จัดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) และมูลนิธิปลูกต้นไม้ (แพท) ในโอกาสวันต้นไม้สากลประจำปีนี้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าใจถึงการจัดการผืนป่าอย่างยั่งยืนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทำฝายกักเก็บน้ำ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และปลูกต้นไม้ร่วมกันกับเพื่อนนักเรียนจากจังหวัดกาญจนบุรีเจ้าบ้าน และลุงป้าน้าอาในพื้นที่ที่ช่วยกันรักษาผืนป่าอันเป็นบ้านหลังใหญ่ของพวกเขา

เวลาเราใช้ชีวิตอยู่บ้านสะดวกสบายเราไม่ค่อยรู้คุณค่าของสิ่งที่เรามี การได้มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ตระหนักในคุณค่าไฟฟ้า ที่เราใช้เปิดแอร์เย็นสบาย อากาศที่ใช้หายใจ น้ำที่เราดื่มกินทุกวันมากขึ้นธนกฤต เจริญจินดามาศ หรือ น้องบอล นักเรียนชั้นเกรด 11 โรงเรียนสาธิตนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล 1 ใน 5 โรงเรียนนานาชาติที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถส่งเรียงความ โดยเลือกหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งระหว่าง 1) ทำไมป่าไม้ถึงมีความสำคัญ หรือ 2) ถ้ามีพื้นที่ 610 ไร่ หรือ 100 เฮกเตอร์ คุณจะใช้พื้นที่นี้เพื่อประโยชน์ของป่าไม้อย่างไร

น้องธนกฤต เล่าว่า เขาเลือกเขียนเรียงความหัวข้อหลัง โดยใช้พื้นที่ทำธนาคารพฤกษศาสตร์ เพื่ออนุรักษ์พรรณไม้เขตร้อนในบ้านเรา ตามความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยา

โครงการเด็กเพื่อผืนป่ายังเปิดโอกาสให้นักเรียนจากจังหวัดเจ้าบ้าน คือ กาญจนบุรี จำนวนหนึ่งได้พบเพื่อนใหม่จากกรุงเทพฯ และเรียนรู้ธรรมชาติรอบชุมชนตัวเองอย่างใกล้ชิด

ศิริมาศ เอี่ยมสะอาด หรือ น้องพริกป่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ เป็นหนึ่งในตัวแทนนักเรียนจากจังหวัดเจ้าบ้านที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า ตนประทับใจกับความหลากหลายของพืชสมุนไพรนานาชนิดในป่าจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง เช่น ใบโปร่งฟ้า ที่ไม่เพียงสวยแต่รูปและมีลักษณะเด่นที่สามารถมองเห็นเส้นใยใบไม้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แต่ยังกินได้เป็นสมุนไพรรสเย็น หากเอามาเคี้ยวยังช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม กับเพื่อนๆ นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ แน่นอนพื้นฐานในด้านการเรียนการสอน และความคิด รวมทั้งนิสัยใจคอ ย่อมแตกต่างจากตนซึ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดอยู่แล้ว แต่ก็เรียนรู้ถึงความแตกต่างและทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน

ฝ่ายคุณครูจากโรงเรียนเหล่านี้ก็ได้มีโอกาสร่วมเดินศึกษาธรรมชาติป่าชุมชน สร้างฝายกั้นน้ำ ไปพร้อมๆ กับนักเรียนของคุณครูเองเจลา คงสมบูรณ์เวช จากโรงเรียนนานาชาติไทย - จีน กล่าวว่า โครงการแบบนี้มีประโยชน์กับเด็กนักเรียน “กิจกรรมนอกห้องเรียนมีความสำคัญมาก ช่วยบ่มเพาะให้เด็กๆ ที่ต้องเรียนหนักและอยู่แต่ในห้องเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ตรงและเข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีความพร้อมปรับตัวกับสังคมรอบตัวได้ดีขึ้น” คุณครูวิทยาศาสตร์ท่านนี้กล่าว

ปิดท้ายกิจกรรมนอกห้องเรียนเป็นเวลา 2 วันด้วยการปลูกต้นไม้ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ของโครงการนี้ สำหรับต้นไม้ที่ปลูก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นต้นตะคึก จันทร์ผา มะเดื่อป่า และมะค่าโมง ผู้ใหญ่บ้านวสันต์ สุนจิรัตน์ และ ผู้ใหญ่บ้านหญิงละออ ภู่ประดิษฐ์ แห่งบ้านท่าทุ่งนา และบ้านแก่งปลากด เล่าว่า ต้นไม้ที่ปลูกชาวบ้านจะช่วยดูแลเป็นอย่างดี เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนที่พวกเขาใช้ประโยชน์ หาของป่าจำพวกสมุนไพร เห็ด ผักหวาน ให้ครอบครัวมมีอยู่มีกินแบบพอเพียง และจะคอยรายงานการเติบโตของต้นไม้ให้กับกลุ่มที่มาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งชาวไทยและและชาวต่างชาติทุกปี สร้างความประทับใจให้กับผู้ปลูก และบ่อยครั้งที่พวกเขากลับมาเยือนพื้นที่อีก

ป่าชุมชนก็เหมือนกับครัวธรรมชาติ ที่เราสามารถเข้าไปหาของกินของใช้ แม้กระทั่งสมุนไพรยารักษาโรคได้ เราจึงอยากให้คนนอกพื้นเข้าใจถึงความสำคัญของป่าว่าทำไมเราถึงต้องต้องอนุรักษ์และหวงแหน บ้านและครัวธรรมชาติของเรา” ผู้ใหญ่บ้านวสันต์กล่าว

รายงานของเอฟเอโอ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ ประมาณ 115.9 ล้านไร่ แต่เป็นที่น่ากังวลว่ามีพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายไปประมาณ 91,500 ไร่ ทุกปี

“การให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องพื้นที่ป่าไม้ และความหลากหลายของสัตว์ป่าพันธุ์พืชในบ้านเขาเองเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดการป่าไม้ และเป็นแนวทางการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ของเราและคนรุ่นหลังที่จะยังอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป” คุณแพทริก เดอสก์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้อาวุโสของเอฟเอโอ กล่าวในตอนท้าย

ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ไทย (ที่มา: เอฟเอโอ)

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ไทยที่จดทะเบียนไว้อย่างเป็นทางการ มีจำนวนถึง 235,000 คน แต่อาจเพิ่มสูงถึง 1.014 ล้านคน หากนับรวมจำนวนชาวบ้านที่ทำมาหากิน หาของป่า และอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนไว้อย่างเป็นทางการเข้าไปด้วย

กิจการอุตสาหกรรมป่าไม้มีมูลค่าสูงถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือ เกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) และมูลค่าจะสูงถึง 18.135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากประเมินรวมกิจกรรมปลีกย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเข้าไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่







กำลังโหลดความคิดเห็น