xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยคนจมน้ำผิดวิธีทำตายคาที่ถึง 50% ห้ามจับพาดบ่ากระแทกท้อง แนะเป่าปากปั๊มหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พบปฐมพยาบาลคนจมน้ำผิดวิธีมากถึง 35% ทำตายคาที่เกิดเหตุถึง 50% สธ.ชี้จับพาดบ่ากระแทกท้องเอาน้ำออกยิ่งทำให้สำลัก แนะทำให้หายใจเองได้ด้วยการเป่าปาก พ่วงปั๊มหัวใจ เร่งเผลแพร่คลิปปฐมพยาบาลที่ถูกต้องผ่านยูทิวบ์ หวังคนร์ต่อป้องกันเด็กจมน้ำช่วงฤดูฝน หลังพบตั้งแต่ต้นปีตายแล้ว 256 ราย

วันนี้ (29 พ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการช่วยเด็กจมน้ำว่า การจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ขณะที่การปฐมพยาบาลช่วยเหลือเด็กจมน้ำก็ยังมีการดำเนินการแบบผิดๆ อยู่ โดยพบมากถึง 35% จนมีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุถึง 50% อย่างเช่นกรณีการเผยแพร่คลิปวีดิโอช่วยเหลือเด็กจมน้ำด้วยการยกพาดหัว กระแทกท้องเพื่อเอาน้ำออก เพราะเชื่อว่าต้องเอาน้ำออกจากท้องให้เร็วที่สุด นี่ก็เป็นหนึ่งตัวอย่างวิธีการที่ผิด เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ผู้ป่วยสำลักน้ำจากกระเพาะอาหาร ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี ซึ่งนาทีทองในการช่วยชีวิตคนจมน้ำอยู่ที่ 4 นาทีแรก ไม่อย่างนั้นสมองจะขาดออกซิเจนและเสียชีวิต

"การปฐมพยาบาลคนจมน้ำอย่างถูกวิธีคือ ต้องทำให้หายใจได้เองเร็วที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเมื่อเห็นคนจมน้ำคือโทร.แจ้งหน่วยฉุกเฉิน สายด่วน 1669 และใช้อุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้โยนลงไปเพื่อให้คนจมน้ำเกาะ เมื่อช่วยขึ้นมาจากน้ำให้จับนอนราบ หากคนจมน้ำรู้สึกตัวต้องเช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า ห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่หากไม่รู้สึกตัวต้องเร่งช่วยทำให้หายใจได้เองด้วยการกดหน้าผาก เชยคางขึ้น บีบจมูก เป่าปากลมเข้าปอด โดยทำ 2 ครั้ง แล้วเปลี่ยนมาปั๊มหัวใจ โดยวางส้นมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก ประสานมือ แขนตั้งฉากกดหน้าอกให้ยุบประมาณ 5 เซนติเมตร ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที ทำสลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง หรือหน่วยกู้ชีพจะมาถึง หากผู้ป่วยหายใจได้แล้วให้จับนอนตะแคงเพื่อให้น้ำไหลออก ใช้ผ้าห่มคลุมให้ความอบอุ่น งดให้น้ำและอาหาร และให้นำส่ง รพ.ทุกราย เพราะมีโอกาสสำลักน้ำและเกิดการติดเชื้อในภายหลังได้" รมว.สธ. กล่าว



ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เพื่อให้ความรู้การปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง ได้ให้กรมควบคุมโรคจัดทำคลิป “การปฐมพยาบาลคนจมน้ำ” เผยแพร่ผ่านยูทิวบ์ ถึงความรู้ที่ถูกต้องในการช่วยเหลือคนจมน้ำ เป็นขั้นตอนง่ายๆ และขอให้ประชาชนช่วยแชร์ในโซเชียลมีเดียให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันหากพบคลิปที่ไม่ถูกต้องขอให้ไม่แชร์ต่อ และแชร์คลิปที่ถูกต้องแทน เพื่อให้คนจมน้ำมีโอกาสรอดชีวิตจากการช่วยเหลือที่ถูกต้อง รับมือการจมน้ำในฤดูฝน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 มีเด็กตายจากการจมน้ำไปถึง 11,771 คน โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งเม.ย.เสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ มี.ค.และ พ.ค. ล่าสุด ส่วนปีนี้ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. มีเด็กจมน้ำตาย 256 คน ลดลงไป 47 คนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557 ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตทั้งปีอยู่ที่ 807 คน คิดเป็น 6.7 ต่อแสนประชากรเด็ก ตอนนี้ตั้งเป้าลดการจมน้ำเสียชีวิตเหลือเพียง 5 ต่อแสนประชากรเด็กตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ ดังนั้น สธ.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และอาสาสมัคร ในการดูแลให้ความรู้เรื่องการป้องกันการจมน้ำ เช่น การดูแลความเสี่ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จัดเจ้าหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะจังหวัดที่มีอัตราเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด การช่วยเหลือผู้จมน้ำอย่างถูกวิธี การสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด โดยเบื้องต้นได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรลูกเสือ การสร้างเวชกรฉุกเฉิน เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น