กรมควบคุมโรคเปิดสถิติหน้าร้อน ช่วง มี.ค.- พ.ค. เด็กไทยจมน้ำตายอื้อ เร่งสร้างทีมก่อการดี 320 ทีม ช่วยป้องกันตั้งเป้าปี 2558 เด็กตายไม่เกิน 770 คน เตือนช่วยคนจมน้ำด้วยวิธีพาดบ่าเขย่าไม่ถูกต้อง ต้องวางนอนราบ ผายปอด
วันนี้ (9 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน มี.ค.- พ.ค. มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด โดย มี.ค. 2557 มีเด็กตายมากสุดในรอบปีถึง 115 ราย ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า การตกน้ำ จมน้ำเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2542 - 2548 เฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 คน หลังจากนั้น เริ่มมีแนวโน้มลดลง จนเมื่อปีที่ 2557 มีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 807 คน ซึ่งกรมฯ ได้เริ่มดำเนินการป้องกันตั้งแต่ปี 2549 ร่วมกับภาคีเครือข่าย
“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 11,771 คน เฉลี่ยเดือนละ 98 คน เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว แหล่งน้ำธรรมชาติเกิดเหตุมากที่สุด รองลงมาคือสระว่ายน้ำ และอ่างอาบน้ำ พบภาคอีสานมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด ส่วนการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ ปี 2556 พบว่า เด็กไทย อายุ 5 - 14 ปี ว่ายน้ำเป็นแค่ร้อยละ 23.7 แต่ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 โดยเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดจะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ มากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนถึง 20.7 เท่า กรมฯได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมสร้างเด็กไทยให้มีภูมิคุ้มกันป้องกันการจมน้ำ โดยเริ่มอบรมครูผู้สอน ตามหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อผลักดันให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรดังกล่าวให้กับเด็กทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ซึ่งเป็นการช่วยลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอีกทาง” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า สธ. ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2558 ต้องลดอัตราการจมน้ำตายของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 6.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือไม่เกิน 770 คน โดยได้สร้างทีมผู้ก่อการดี คือ ทีมที่มีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในมาตรการต่างๆ โดยในปี 2558 ตั้งเป้าว่าต้องมีทีมอย่างน้อย 320 ทีม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมาตรการป้องกันการจมน้ำที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนร้อยละ 92.6 เข้าใจผิดว่า เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการอุ้มพาดบ่าและกระแทกเอาน้ำออก ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่ปอด จะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นและเสียชีวิต วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ 1. ตะโกนขอความช่วยเหลือ 2. วางคนที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก 3. ช่วยให้หายใจได้เร็วที่สุด โดยการผายปอดและเป่าลม 4. ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที และ 5. รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่