จักรยาน-พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ออกมาให้การสนับสนุนการขี่จักรยานทั้งเพื่อการสัญจร การท่องเที่ยว และการออกกำลังกายกันเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”(องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานสัมผัสวิถีชีวิตและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยว ในแบบ Slow Tourism ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำตามแบบ Low Carbon Tourism ด้วย
สำหรับการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่หรือจุดท่องเที่ยวต่างๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นักท่องเที่ยวจะต้องขี่จักรยานไปบนท้องถนนร่วมกับรถยนต์ จักรยานยนต์ และยานพาหนะชนิดอื่นๆ ดังนั้น อพท. จึงขอแนะนำข้อควรปฏิบัติง่ายๆ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้สามารถขี่จักรยานท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยมาฝากกัน
1.ควรตั้งสติก่อนจะเริ่มขี่จักรยาน ใช้ความระมัดระวัง และมีสมาธิ ควบคุมรถให้วิ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่ส่ายไปมา
หูต้องคอยฟังเสียงรอบข้างว่า มีรถที่วิ่งตามมาข้างหลังหรือไม่ สายตาควรมองตรงไปข้างหน้าในระยะไกลเพื่อคอยดูรถที่วิ่งสวนมา หรือรถที่จะเข้าหรือออกจากข้างถนน และควรจะเหลียวมองดูสภาพแวดล้อมด้านหลังเป็นระยะ
2.ควรขี่ชิดขอบทางเท้า โดยเว้นระยะห่างออกมาประมาณ 1 ช่วงแขน (หรือประมาณ 30-70 เซนติเมตร ) การขี่จักรยานชิดขอบทางเท้ามากเกินไป อาจเกิดอันตรายจากการที่บันไดของจักรยานไปขูดหรือกระแทกกับขอบทางเท้า ทำให้เสียหลักรถล้มได้เช่นกัน
3.จักรยานทั่วๆ ไปจะมีอุปกรณ์ห้ามล้อทั้งล้อหน้าและล้อหลัง สิ่งที่ผู้ขี่มือใหม่ต้องเรียนรู้ คือ การบีบเบรกหน้าแรงเกินไปจะทำให้รถหยุดอย่างรวดเร็วจนเกิดการหน้าคะมำ หรือเสียหลักลื่นล้มไถลไปข้างหน้า ในขณะการบีบเบรกหลังจะทำให้เกิดอาการท้ายปัดได้ วิธีที่เหมาะสมในการหยุดรถคือ พยายามใช้เบรกทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน โดยกะสัดส่วนของแรงเบรกที่ล้อหน้าและล้อหลัง ไว้ที่ประมาณ 60/40 หรือ 50/50 ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวถนนและความลาดเทของพื้นถนน แต่คนโบราณมักจะบอกว่า ผู้ขี่มือใหม่ต้องมีประสบการณ์เสียหลักล้มเสียบ้าง 1-2 ครั้ง แล้วคราวต่อๆ ไปจึงจะสามารถกะแรงเบรกได้เอง แต่ทางแก้ที่ดีกว่า คือ ผู้ขี่ควรมีการทดสอบประสิทธิภาพในการห้ามล้อของจักรยานที่จะใช้เสียก่อนที่จะขี่จักรยานคันนั้นออกถนนใหญ่
4.รถจักรยานเป็นพาหนะไม่มีทั้งไฟเบรกและไฟเลี้ยว ดังนั้น การให้สัญญาณมือเมื่อผู้ขี่ต้องการจะเปลี่ยนช่องจราจร เลี้ยวหรือเมื่อต้องการจะหยุดรถจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะทำให้รถที่ตามมาข้างหลังได้ระวังตัว สัญญาณมือพื้นฐานที่ควรใช้ คือ
•การให้สัญญาณว่าจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องจราจร โดยกางแขนซ้ายหรือขวาขึ้นเป็นแนวตรงเสมอไหล่ ในทิศทางเดียวกับที่ต้องการเลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องจราจร
•การให้สัญญาณมือเพื่อบอกว่าจะหยุดรถ โดยกางแขนขวาขึ้นเสมอไหล่ งอข้อศอกให้แขนท่อนล่างตั้งฉาก และแบฝ่ามือ
•การให้สัญญาณว่าจะชะลอรถ โดยการกางแขนขวาหรือซ้ายขึ้นเสมอไหล่ จากนั้นโบกมือขึ้นลงเข้าหาลำตัวหลายๆ ครั้ง
•การให้สัญญาณเพื่อบอกให้รถที่ตามมาข้างหลังแซงขึ้นไป โดยการยกแขนขวาขึ้นเสมอไหล่ จากนั้นโบกมือไปข้างหน้าหลายๆ ครั้ง
•การให้สัญญาณว่าจะขี่ตรงไปข้างหน้ากรณีที่เจอทางแยก ให้ชูมือขึ้นเหนือหัวพร้อมผายมือไปข้างหน้า
5.ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนช่องจราจรหรือหลบพาหนะอื่นๆ ที่จอดอยู่ข้างทาง ผู้ขี่จักยานควรหันหน้าหรือเหลือบไปมองดูก่อนว่า มีรถตามมาด้านข้างหรือด้านหลังหรือไม่ สำหรับผู้ที่ยังขี่จักรยานไม่ชำนาญ อาจเป็นเรื่องยากที่จะรักษาการทรงตัวเอาไว้ในขณะที่หันหน้ากลับไปมองรถข้างหลัง ซึ่งเป็นอันตรายมากหากขี่บนถนนใหญ่ ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย คือ หากผู้ขี่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมรถขณะหันหน้าไปมองข้างหลัง ก็ให้ชะลอหรือจอดรถจักรยานให้ชิดขอบทางมากที่สุดแล้วจึงค่อยหันกลับไปมองข้างหลัง
6.กรณีที่จำเป็นต้องเลี้ยวขวาข้ามแยกแล้วมีรถใหญ่หยุดรอเลี้ยวอยู่กลางถนนด้วย ให้ขี่จักรยานไปอยู่ทางฝั่งซ้ายของรถใหญ่แล้วจึงเลี้ยวขวาไปพร้อมกัน ส่วนในกรณีที่จะเลี้ยวซ้าย ให้ขี่จักรยานเข้าไปต่อท้ายโดยให้รถจักรยานอยู่ในตำแหน่งเยื้องทางขวาของรถใหญ่แล้วจึงเลี้ยวซ้ายตามรถใหญ่ไป การอยู่ผิดข้างอาจจะทำให้ถูกรถใหญ่เบียดออกไปอยู่กลางถนน หรือเข้าไปใต้ท้องรถใหญ่ได้
7.ล้อจักรยานทั่วๆไปจะมีพื้นที่หน้าตัดที่สัมผัสกับพื้นถนนน้อยจึงเกิดการลื่นไถลได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการขี่จักรยานไปบนแนวเส้นของสีทาพื้นถนน โดยเฉพาะในบริเวณที่เปียกหรือมีน้ำขังหลังฝนตก และบนพื้นผิวถนนที่มีหินกรวดหรือทราย
8.ข้อควรระมัดระวังเมื่อขี่จักรยานบนพื้นถนนคอนกรีตที่มักจะมีร่องปูนแนวยาวที่เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นปูน รวมถึง ขอบฝาท่อระบายน้ำ และรอยร้าวบนพื้นถนนที่เป็นแนวยาวหรือพื้นถนนต่างระดับ เพราะล้อหน้าของจักรยานอาจตกลงไปในร่องทำให้เสียหลักล้มคว่ำและถูกรถที่ตามมาข้างหลังชนซ้ำได้
9.จักรยานที่มีให้เช่าตามแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่มีไฟหน้าและไฟหลังมาให้ อาจมีแค่แผ่นสะท้อนแสง จึงควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาขี่ในช่วงเวลาเช้ามืด พลบค่ำ และกลางคืน เนื่องจากสังเกตเห็นได้ยาก และอาจเกิดอุบัติเหตุถูกเฉี่ยวชนได้
10.ในกรณีที่ขี่จักรยานท่องเที่ยวกันไปเป็นกลุ่มหลายๆ คัน ควรขี่เป็นแถวต่อๆ กันไปในลักษณะแถวเรียงเดี่ยว และต้องระวังไม่ให้ล้อหน้าล้ำเข้าไปซ้อนกับล้อหลังของจักรยานคันหน้า โดยเว้นระยะห่างจากคันหน้าเล็กน้อยเพื่อความปลอดภัย
ทั้ง 10 ข้อ ที่บอกมาเป็นเทคนิคง่ายๆ เหมาะทั้งนักปั่นมือใหม่และนักปั่นมือเก๋า สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง เพราะการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องมีความระมัดระวังเช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com