ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์นักปั่นมีเยอะขึ้น หลายคนปั่นเที่ยว บางส่วนปั่นออกกำลังกาย หรือบางคนเลือกปั่นไปทำงาน แม้จะมีการผลักดันให้จักรยานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ที่เปิดให้นักปั่นได้มีเลนเฉพาะ แต่ก็ยังมีเสียงบ่นพึมพำตามมาถึงเลนจักรยานในเมือง โดยเฉพาะเลนจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตามโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี สนองนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาล
บอกเล่าได้จาก ศรีสมพร ชมพู หรือ นก คุณแม่ลูกสองในฐานะที่ปั่นจักรยานมานานหลายปี และเคยใช้เส้นทางจักรยานในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่เธอและเพื่อนๆ นักปั่นหลายคนก็ยังประสบปัญหาเรื่องฝาท่อ และปัญหาอื่นๆ ที่ไม่เอื้อต่อการปั่นจักรยานในเมืองหลวง
"เลนจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ยังต้องหลบฝาท่อค่อนข้างเยอะค่ะ ซึ่งการปั่นแต่ละครั้งต้องใช้ทักษะการหลบหลีกเป็นอย่างมาก ส่วนตัวกั้นข้างทางก็ไม่ได้มีตลอดทาง มีแค่บางช่วง นอกจากนั้น การปั่นจักรยานในเมืองยังมีปัญหาในเรื่องของความเร็ว ปั่นเร็วไม่ได้ เพราะว่าในเลนจะมีทั้งคนเดินและรถตัดเข้าตัดออก" เธอบอก พร้อมกับวอนขอให้รถใหญ่เห็นใจ และเข้าใจรถเล็กอย่างจักรยานบ้าง
"เวลาเราไปในที่ที่ต้องใช้ถนนร่วมกันกับรถใหญ่ เขาไม่ค่อยให้ทางเราเลยค่ะ จริงๆ แล้วการปั่นบนถนนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากอยู่แล้ว แต่อยากผู้ใช้รถให้มีน้ำใจ และให้เกียรติจักรยานบ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราปั่นของเราอยู่ดีๆ พอจะเลี้ยว เราก็ดูดีแล้วนะ ไม่คิดว่ารถใหญ่จะเลี้ยวปาดหน้าได้อย่างชนิดที่เรียกได้ว่า อีดนิดเดียวก็จะชนเราละ" คุณแม่นักปั่นเผยประสบการณ์เฉียดตาย
เช่นเดียวกับ องอาจ หาญทวีสมพล พนักงานบริษัทฯ นอกจากจะใช้พื้นที่สนามเขียว สุวรรณภูมิในการปั่นจักรยานเป็นประจำแล้ว ยังมีโอกาสได้ใช้เส้น ทางจักรยานในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ด้วย สำหรับเส้นทางนี้ เขาบอกว่า การแบ่งเลนในเมืองให้จักรยานถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรจะเหลียวแลปัญหาเรื่องท่อ หรือทางที่ปูดอื่นๆ ที่สามารถใช้ทางร่วมกันได้
สำหรับโครงการเส้นทางจักรยาน ก่อนหน้านี้ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยออกมากระตุ้น และจุดประกายให้พื้นที่อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เกิดเส้นทางจักรยานที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย รวมถึงทำให้คนสนใจปั่นจักรยานในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งการปั่นจักรยานไปโรงเรียน ปั่นไปทำงาน ปั่นท่องเที่ยว หรือปั่นออกกำลังกาย
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายจัดทำแผนการส่งเสริมการปฏิบัติในแต่ละจังหวัด ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ส นั่นก็คือ 1 สวน 1 เส้น 1 สนาม คือ 1. สวน สาธารณะที่ให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน 2. เส้น ให้แต่ละจังหวัดกำหนด 1 เส้นทางที่สนองต่อผู้ใช้ประจำ 3. สนาม ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด อาทิ สนามกีฬา สนามบิน หรือสนามของหน่วยราชการ ให้จัดแบ่งให้เป็นเลนปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลัง
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า การสร้างเมืองให้เป็นเมืองจักรยาน ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะมาเป็นเมืองจักรยานในทุกวันนี้ ใช้เวลานานถึง 20 ปีกันเลยทีเดียว หรือที่ประเทศมาเลเซีย เขามีการปิดถนนบางเส้นทางให้ปั่นจักรยาน เริ่มจากเดือนละครั้ง ค่อยๆ มาเป็นอาทิตย์ละวัน ดังนั้น เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย การจะพัฒนาให้เป็นเมืองจักรยานอย่างยั่งยืน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลา และได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754