xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสอบพยาบาลยักยอกเงิน รพ.สตึก 2.7 ล้าน สาวไส้ระบบหละหลวม ผอ.รพ.ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เร่งสอบพยาบาลฉาว ยักยอกเงินโครงการส่งเสริมป้องกันโรค รพ.สตึก กว่า 2.7 ล้านบาท หากพบผิดจริงตั้ง กก.สอบวินัย ทันที พร้อมคุ้ยเทคนิคปลอมลายเซ็นอนุมัติโครงการ หรือ เช็คเบิกเงิน สาวไส้เกิดจากระบบหละหลวมหรือไม่ หากใช่ ผอ.รพ. ผู้เกี่ยวข้องมีความผิดด้วย ต้องรับผิดชอบ
นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา
จากกรณีนางวิภานันท์ อ่อนวิจารย์ อายุ 49 ปี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ได้ปลอมลายมือชื่อของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ผอ.รพ.สตึก สาธารณสุขอำเภอสตึก เจ้าหน้าที่ รพ.หลายคน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อีกหลายร้อยคน โดยใช้วิธีสแกนเพื่อนำไปประกอบการทำโครงการยักยอกเงินงบประมาณของโรงพยาบาลสตึก รวมกว่า 10 โครงการ ในห้วงเดือน ต.ค. 2557 - ก.พ. 2558 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2.7 ล้านบาท นำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งขณะนี้ สสจ.บุรีรัมย์ ได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

ล่าสุด วันนี้ (28 พ.ค.) นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. ได้กำชับให้ติดตามแล้ว ซึ่งคงต้องรายงานรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ นพ.สสจ.บุรีรัมย์ แต่งตั้งก่อน เพื่อดูว่ามีความผิดจริงหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดจริงก็จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยต่อไป ทั้งนี้ กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นจะตรวจสอบระบบ ทั้งเรื่องของการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะการปลอมลายเซ็นมีความเป็นไปได้อยู่ 2 ส่วน คือ 1. การปลอมลายเซ็นอนุมัติโครงการ หรือ 2. การปลอมลายเซ็นเพื่อเบิกจ่ายเงินโครงการ

นพ.สมชายโชติ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเป็นโครงการในส่วนของงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งตามปกติแล้วการเสนอโครงการจะต้องเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องจะมี ผู้เขียนโครงการ ผู้เสนอโครงการ ซึ่งสองส่วนนี้อาจเป็นเจ้าหน้าที่ในฝ่าย ผู้เห็นชอบโครงการ ส่วนนี้ถือว่าสำคัญจะมีอย่างน้อย 2 คน เช่น หัวหน้างานฝ่ายนั้น และหัวหน้าแผนยุทธศาสตร์ เพื่อตรวจสอบว่าโครงการเป็นไปตามแผนหรือไม่ และผู้อนุมัติโครงการ ซึ่งจะเป็น ผอ.รพ. หรือผู้ที่ ผอ.รพ. แต่งตั้ง เช่นเดียวกับการเซ็นเบิกเงินต้องเป็น ผอ.รพ. หรือผู้ที่ ผอ.รพ. แต่งตั้งเช่นกัน ก็ต้องมาตรวจสอบดูว่าเป็นการปลอมลายเซ็นในส่วนใด เพราะมีความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น ปลอมลายเซ็นอนุมัติโครงการ ทำให้ผู้ต้องเซ็นเช็ค หรือเซ็นเบิกเงินคิดว่า โครงการผ่านแล้วจึงอนุมัติเงินไปตามโครงการที่เสนอ หรือจริงๆ อาจจะไม่ได้ปลอมลายเซ็นแต่เป็นการสอดแทรกให้ผู้ที่อำนาจเซ็นในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น

การปลอมลายเซ็นแบบนี้มีหลายเทคนิค ผู้บริหารจะต้องมีความรู้เท่าทัน เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นก็ถือว่าเป็นความหละหลวมของผู้บริหารด้วย ถือว่ามีความผิดเช่นกัน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายตามมูลค่าที่เกิดขึ้นจริง เช่น 2.7 ล้านบาท ก็ต้องแบ่งไปว่าผู้บริหารต้องรับผิดชอบเท่าไร คนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องชดใช้คืนหลวงเท่าไร” โฆษก สธ. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น