xs
xsm
sm
md
lg

มจร.ชวนร่วมงานวิสาขบูชาโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มจร. เชิญร่วมงานวันวิสาขบูชาโลก ไทยเป็นเจ้าภาพ ชูประเด็น “พระพุทธศาสนากับวิกฤตของโลก”

วันนี้ (27 พ.ค.) รศ.ดร.พระมหาหรรษา ธัมมะมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลกนานาชาติครั้งที่ 12 โดยในปีนี้ได้ชูประเด็น “พระพุทธศาสนากับวิกฤตของโลก (Buddhism and World Crisis)” เป็นหลักในการสัมมนาสากล หลังจากภายในประเทศไทยเอง และประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตความขัดแย้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ด้านการศึกษา โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ โดยผลการสัมมนาที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเสนอต่อยูเอ็น รวมทั้งประเทศในอาเซียนด้วย

รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าวว่า คณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก มีฉันทามติร่วมกันในการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ครั้ง 12 ขึ้นในระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤษภาคม ในหัวข้อ “พระพุทธศาสนากับวิกฤตของโลก” เพื่อเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 5,000 รูป/คน จาก 84 ประเทศ โดยมีการจัดงาน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล จ.นครปฐม

รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า ในการจัดประชุมดังกล่าวจะมีการจัดการประชุมย่อยออกเป็น 4 หัวข้อ ประกอบด้วย 1. พุทธวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม 2. พุทธวิธีในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม 3. พุทธวิธีในการแก้วิกฤตทางการศึกษา และ 4. พระพุทธศาสนากับประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คือ 1. พระไตรปิฎกฉบับสากล และ 2. สหบรรณานุกรมทางพระพุทธศาสนา

รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าวอีกว่า ขณะนี้โลกกำลังวิกฤตมาก วิกฤตอย่างแรก คือ ความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อความรุนแรงของกลุ่มไอซิส ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของโลก หรือแม้ความรุนแรงในจังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยเองก็ตาม ทั้งหมดมีแต่ความขัดแย้ง ฆ่ากันฟันแทง และสงคราม เราจึงมองว่าลำดับความสำคัญอันดับแรกเลย คือ การนำพุทธศาสนามากับการจัดการกับความขัดแย้งในสังคมโลก เพื่อที่จะจัดการกับความขัดแย้ง เมื่อโลกกำลังจะมีสงคราม ศาสนาพุทธจะเข้าไปจัดการกับปัญหาว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในประเด็นของเรื่องสันติภาพ เรื่องของความรัก และความปรารถนาดี เป็นต้น

ผู้ช่วยอธิการบดี มจร. กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 ที่เป็นเรื่องสิ่งสำคัญคืออีกเรื่อง คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม ขณะนี้โลกร้อนเกิดขึ้น เพราะว่าคนร้อนจึงเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง นำประโยชนส่วนตัวไปทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีของการแย่งชิงทรัพยากร ป่าเขาลำเนาไพร ขยะและสิ่งปฏิกูลจากบริษัท และโรงงานต่างๆ ทุกวิถีต่างทำเพื่อจะได้ประโยชน์โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมก็จะมาทำลายมนุษย์ อย่างเช่นที่เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซึ่งประเด็นนี้ศาสนาพุทธได้สอนไว้ในเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกัน เรื่องการดูแลรักษากันและกัน ไม่ใช่จะเอาประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว

รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า เรื่องที่ 3 ที่เป็นกรณีวิกฤติด้านการศึกษา เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการที่เราไม่ได้สนใจให้ความรู้เรื่องการศึกษากับมนุษย์ ทั้งนี้การศึกษาไม่ได้เป็นไปเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อม และเพื่อนมนุษย์ได้อย่างสันติสุข เราก็เลยต้องกลับมาพูดเรื่องการศึกษากันใหม่ ว่า การศึกษาในโลกอนาคต ในโลกปัจจุบันจะต้องปฏิรูปยังไงบ้าง จึงจะทำให้คนรักกันมากขึ้น รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในศาสนาพุทธมีไตรสิกขา มีศีลศึกษา คือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาพฤติกรรม อีกประเด็นหนึ่งคือ จิตศึกษา คือ การรักษาจิตใจของเราให้มีความรักความปรารถนาดี และสามคือ ปัญหาสิกขา การศึกษาเพื่อใช้ปัญญาในการพาโลกใบนี้ให้มันรอด ส่วนเรื่องที่ 4 ก็คือ การเชื่อมโยงกันทางพุทธศานาในประชาคมอาเซียน ซึ่งในประเด็นนี้เพื่อเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันในอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้

“หลังจากได้ผลการเสวนา และทำการศึกษา เราจะประกาศใน “แบงกอกเดคเคเรชัน” ประกาศเป็นปฎิญญา ยูเนสเคป ราชดำเนิน เพื่อบอกนักการเมือง นักการศึกษา ยูเนสโก ยูเอ็น ชาวพุทธทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วม เพื่อประกาศให้เขาทราบว่า ต่อไปนี้แต่ละมิติเราจะทำอะไรร่วมกัน หลังจากเราประกาศแล้วจะส่งเดคเคเรชั่นตัวนี้ ไปคุยเรื่องยุทธศาสตร์ เรื่องกลยุทธ์ ไปให้รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงรัฐบาลไทยด้วย” รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าว

รศ.ดร.พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า คนทั่วไปจะมีส่วนร่วมกับงานนี้ได้ คือ กิจการนี้มี 2 ส่วนๆ แรก คือการจัดกิจกรรมทางวิชาการตามหัวข้อข้างต้น ซึ่งจะมีขึ้นที่ มจร. ในวันที่ 28 - 29 พ.ค. ซึ่งในส่วนนี้ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้ารับฟังการสัมมนาวิชาการสากลได้ ส่วนการเฉลิมฉลองจะมีขึ้นที่ยูเอ็นในวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้แทนทูตแต่ละประเทศ และแขกรับเชิญจากประเทศต่างๆ เป็นการเฉพาะ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยึงพุทธมณฑลในวันเดียวกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น