ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ 18 จังหวัดภาคเหนือ จัดเวทีประชุมระดมความคิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชี้มีอันตรายสูงต่อสุขภาพจากสารที่ทำให้เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และมะเร็ง เผยมีธุรกิจรับซื้อน้ำมันเก่าแล้วเอาไปฟอกนำกลับมาขายใหม่ คาดปริมาณปีละหลายร้อยล้านลิตร เสนอรัฐออกกฎหมายควบคุม
วันนี้ (21 พ.ค. 58) ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดการประชุมเรื่อง “รวมพลังจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ...ภัยต่อสุขภาพ (ภาคเหนือ)” ซึ่ง คคส.ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น
โดยมีเครือข่ายจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพภาคเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข และตัวแทนผู้บริโภคใน 18 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าวเพื่อให้เครือข่ายดำเนินการในแต่ละจังหวัดร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำในพื้นที่ที่ดำเนินการได้ดี พร้อมระดมความเห็นในการจัดการน้ำมันทอดซ้ำทั้งในระดับชุมชน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภาค โดยมุ่งให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งมีข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการลดความเสี่ยงจากอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้เครือข่ายจัดการน้ำมันทอดซ้ำเชียงใหม่ยังได้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อผลักดันกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำและมาตรการต่างๆ ในการป้องกันแก้ไขปัญหานี้
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยากล่าวว่า การนำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาใช้เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยจากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าในน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมีสารที่ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิต และโรคหัวใจ รวมทั้งมีสารก่อมะเร็งอยู่ด้วย ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้คาดหวังให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัว
โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการ ในการที่จะร่วมมือกันไม่ให้มีการนำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพกลับเข้ามาสู่วงจรการบริโภคอีก เนื่องจากทุกวันนี้พบว่ามีขบวนการซื้อขายน้ำมันแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ ทั้งนี้หากเป็นไปได้อาจจะต้องมีการผลักดันกฎหมายเพื่อจัดการควบคุมในเรื่องนี้
ขณะที่เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี เปิดเผยว่า จากการประมาณการในแต่ละปีประเทศไทยควรจะมีน้ำมันที่ใช้ในการบริโภคแล้วเหลือประมาณ 300 ล้านลิตร
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพียงไม่ถึง 1 ล้านลิตรเท่านั้น นอกจากนี้พบด้วยว่ามีการทำธุรกิจรับซื้อน้ำมันทอดแล้วไปทำการฟอกให้ดูเหมือนน้ำมันใหม่แล้วนำกลับมาขายให้ผู้บริโภคใช้ซ้ำอีกในราคาที่ถูกกว่าราคาในท้องตลาด ซึ่งเป็นธุรกิจที่คาดว่าน่าจะทำกำไรได้ปีละนับพันล้านบาท แต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ แนะนำประชาชนว่าควรมีความรอบคอบในการเลือกซื้อ ด้วยการไม่ซื้อจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือและหมั่นสังเกตบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายควบคุมการจัดการน้ำมันทอดที่ใช้แล้วด้วย โดยกำหนดว่าการรวบรวมจะต้องได้รับการอนุญาต เพื่อให้ทราบว่าจะนำไปทำอะไรเหมือนในต่างประเทศ