xs
xsm
sm
md
lg

พยาธิขนม้าในแมลงไม่อันตราย เปิบได้ถ้าทำให้สุกพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญชี้ “พยาธิขนม้า” ไม่อันตราย หลังมีคนแพร่คลิปพบพยาธิขนม้าในท้องแมลงที่นิยมนำมากินจำนวนมาก ยันเปิบแมลงได้ตามปกติ หากทำให้สุกแล้ว ระบุพยาธิดังกล่าวไม่เติบโตในคน ระบุส่วนใหญ่แมลงทอดที่ขายมาจากฟาร์มเพาะ แต่ให้ระวังการกินร่วมแอลกอฮอล์ เสี่ยงกระตุ้นสารเคมีบางตัว

นพ.ดร.วัฒนกุลพานิชย์ รองหัวหน้าภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวถึงกรณีคลิปในสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่การดึงก้นแมลงออกมาพบภายในท้องแมลงมีพยาธิและไข่พยาธิจำนวนมาก ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าอาจได้รับอันตรายจากพยาธิในกลุ่มคนที่นิยรับประทานแมลง ว่า  พยาธิดังกล่าวคือ พยาธิขนม้า เป็นพยาธิที่ไม่มีอันตรายกับคน แต่จะเป็นอันตรายกับแมลงคือทำให้ร่างกายแมลง เช่น ตั๊กแตนหิวน้ำตลอดเวลา และบังคับให้แมลงไปที่แหล่งน้ำ หลังจากนั้นพยาธิดังกล่าวก็จะไชออกมาจากแมลง แล้วก็วางไข่ ซึ่งการทอดแมลงสามารถฆ่าพยาธิขนม้าได้จึงไม่ต้องกังวล

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า  พยาธิขนม้าที่อยู่ในตัวแมลงตามคลิปนั้น หากนำแมลงไปทอดจนสุกแล้วนำมารับประทาน ไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ พยาธิดังกล่าวไม่สามารถเจริญเติบโตในร่างกายมนุษย์ได้ เพียงแต่อาจเกิดกรณีที่พยาธิตัวใหญ่มากๆ แล้วไปอุดลำไส้ได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแมลงที่นำมาทอดขาย ส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยง ซึ่งมีวิธีเลี้ยงที่สะอาด ดังนั้น จึงปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล  และหากจะรับประทานแมลงก็ขอให้รับประทานแบบสุกๆ โดยเชื้อโรคทั่วไปจะถูกทำลายที่ความร้อน 70 องศาเซลเซียส ทอดประมาณ 15 - 30 นาที ก็จะสามารถค่าเชื้อโรคได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่เท่าที่พบแมลงทอดก็มักจะสุกมากอยู่แล้ว จึงขอยืนยันว่าหากรับประทานสุกก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่ประชาชนควรระวัง คือ ไม่ควรรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจไปกระตุ้นสารเคมีที่อาจมีอยู่ในแมลงบางชนิด และหากพบอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกชาปาก มือชาก็ให้หยุดรับประทาน

“ปกติในสิ่งแวดล้อมก็จะมีพยาธิและเชื้อโรคต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การพบพยาธิในสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และพยาธิทุกตัวไม่ได้ทำให้เกิดโรคในคนได้ ซึ่งจะมีพยาธิบางชนิดเท่านั้นที่จะเกิดโรคในคน ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับ ที่ได้รับจากการรับประทานปลาดิบ พยาธิปากขอที่จะไชเข้าตามเท้า เป็นต้น ส่วนชนิดอื่นส่วนใหญ่แล้วจะไม่ก่อโรคถึงแม้จะกินเข้าไปก็ไม่อันตราย ยกเว้นบางรายที่มีอาการแพ้หรือพยาธิไชไปผิดที่ผิดทาง เช่น พยาธิอาจไชไปทำลายอวัยวะต่างๆ จนทำให้เกิดโรค แต่กรณีนี้ก็พบน้อย” รองอธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น