xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์สวนดอกยันข่าวมั่วกรณีลือแมลง Sand Fly กัดจนมีคนป่วยกว่า 20 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - แพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ยันข่าวมั่ว กรณีลือว่อนโซเชียลมีเดียว่ามีผู้ป่วยหนักเข้ารับการรักษากว่า 20 ราย เนื่องจากถูกแมลง Sand Fly ที่ลักษณะคล้ายยุงกัด ชี้ข้อมูลคลาดเคลื่อนและถูกแต่งเติมให้ดูน่ากลัวเกินจริง ระบุมีโอกาสน้อยมากที่โรคจะติดต่อหรือแพร่ระบาด วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกและควรกลั่นกรองก่อนหลงเชื่อ



วันนี้ (19 มี.ค. 58) ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิสิต วรรธนัจฉริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญา สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า หมอสวนดอกเตือนให้ระวังแมลง Sand Fly หรือชื่อไทยเรียกว่า แมลงริ้นฝอยทราย กัดทำให้เกิดโรค Leishmaniasis ระบาดที่เชียงใหม่ พบป่วยแล้วกว่า 20 ราย โดยได้มีการนำภาพแมลงและผู้ป่วยที่มีรอยแผลบนผิวหนังดูน่ากลัวส่งต่อกันจนทำให้ก่อเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัวอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ปกครองเด็กนักเรียนที่ได้รับข้อมูลดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ยืนยันว่า จากการตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยไม่มีผู้ป่วยแม้แต่รายเดียวเข้ารับการรักษาตามที่มีข่าวลือ ขณะที่จากการศึกษาและติดตามข้อมูลเรื่องนี้พบว่าในอดีตโรคนี้พบในผู้ป่วยที่เคยไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง และต่อมามีผู้พบเชื้อในประเทศไทยกว่า 10 จังหวัดในภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน

โดยในภาคเหนือมีรายงานพบผู้ป่วยในจังหวัดน่าน ลำพูน และเชียงใหม่ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารวม 4 ราย โดยพาหะของโรคเป็นแมลงจำพวกริ้นที่ไปกัดสัตว์ประเภทฟันแทะแล้วนำเชื้อมาถ่ายทอดสู่คน

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ปรัชญากล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่ถูกระบุว่ามีจำนวนมากถึง 20 รายนั้น ความจริงแล้วเป็นจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือพบผู้ป่วยรวมเพียง 4 รายเท่านั้น ในจังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย ลำพูน 2 ราย และน่าน 1 ราย

รวมทั้งบอกว่าโรคนี้แม้จะติดต่อได้แต่ไม่เคยพบว่ารุนแรงถึงขั้นมีการแพร่ระบาด และถึงแม้จะป่วยหากได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็หายได้ โดยย้ำว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เวลานี้มีความคลาดเคลื่อนและแต่งเติมให้ดูน่ากลัวเกินความเป็นจริง จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและหวาดกลัวเกินไป รวมทั้งควรพิจารณากลั่นกรองข้อมูลให้ดีก่อนที่จะเชื่อถือ

ด้านผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า อาการของโรคนี้จะแสดงอาการใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ทางผิวหนังที่จะเป็นแผลเรื้อรัง และอวัยวะภายใน ซึ่งในรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำจะแสดงอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะว่าแม้โรคนี้จะจัดว่าเป็นโรคที่อันตรายแต่ในประเทศไทยพบผู้ป่วยน้อยมากและมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดติดต่อกันได้ยากเนื่องจากองค์ประกอบของการแพร่ระบาดมีเยอะมาก ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่ทราบข้อมูลอย่าหวาดกลัวและอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์เพราะเป็นข้อมูลที่นำเสนอคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ภาพที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย
ภาพที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น