xs
xsm
sm
md
lg

หอยแครงสุราษฎร์ฯ ตายเพิ่มผลตรวจพบเชื้อปรสิตโปรโตซัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำกำลังตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสียโรงงานถุงมือยางหลังชาวบ้านร้องเรียนสงสัยเป็นสาเหตุหอยตาย ในเบื้องต้นไม่พบสิ่งผิดปกติ ขณะที่ผลตรวจเนื้อหอยพบเชื้อปรสิตโปรโตซัว จังหวัดเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ในขณะที่การตายของหอยแครงได้ขยายพื้นที่มาถึง อ.เมืองสุราษฎร์ธานีแล้ว

สำหรับความคืบหน้ากรณีที่มีหอยแครงในบริเวณอ่าว อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ตายยกอ่าว และมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมูลค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายพื้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วันนี้ (11 ก.ย.) นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และหาสาเหตุที่ทำให้หอยแครงตาย โดยชาวบ้านสันนิษฐานว่า สาเหตุที่หอยแครงตายยกอ่าวนั้นอาจจะมาจากระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตถุงมือยางแห่งหนึ่งใน อ.กาญจนดิษฐ์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน

ต่อมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ไปตรวจสอบระบบการบำบัดบ่อน้ำเสียของโรงงานผลิตถุงมือยาง ซึ่งตั้งอยู่ ม.7 ต.พลายวาส อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี โดยทางผู้จัดการบริษัทยืนยัน ว่า ระบบการบำบัดน้ำเสียถูกต้องตามมาตรฐานระเบียบราชการอย่างแน่นอน มีนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมตรวจสอบต่อเนื่อง ขณะที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวภายหลังการตรวจสอบ ว่า จากการตรวจสอบระบบการบำบัดน้ำเสียของโรงงานยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ได้สั่งเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปทำการตรวจวิเคราะห์หาสารพิษตกค้าง พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการยังระบุว่า ทางประมงจังหวัดได้รายงานผลการตรวจเนื้อหอยแครงตัวอย่างที่สุ่มเก็บตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ผลการตรวจพบเชื้อปรสิต ชนิดโปรโตซัล เชื้อตัวนี้จะทำให้หอยแครงอ่อนแอ และตาย แต่ปรสิตที่พบเป็นคนละชนิดกับที่จังหวัดสมุทรสาคร หรือสมุทรสงคราม ชนิดที่พบในพื้นที่คาดว่าจะเป็นปรสิตชนิดใหม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างตรวจวิเคราะห์ว่าจะเป็นชนิดใด

แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคาดว่าปรสิตตัวนี้อาจเกิดมาจากการหมักหมมของน้ำเสียจากชุมชนต่างๆ ทั้งในพื้นที่เมือง และต่างอำเภอไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง และไหลไปสะสมอยู่ในอ่าวบ้านดอน และพบว่า มีหอยตายจากเหตุดังกล่าวมาตลอด เป็นอุปสรรคของการเลี้ยงหอย พร้อมเตรียมทบทวนขบวนการบำบัดน้ำเสียของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้กำลังรอคำยืนยันจากผลการตรวจพิสูจน์ของสถาบันวิจัยประมงชายฝั่งจังหวัดสงขลาอีกครั้ง หากพบเป็นปรสิตชนิดเดียว ทางจังหวัดจะประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหอย และต้องหยุดการเลี้ยงหอยไป 1 ปี เพื่อกำจัดเชื้อดังกล่าวให้หายไปจากพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การตายของหอยแครงในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ พบว่า ขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ออกไปกว้างมากขึ้น จนไปถึงพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งพื้นที่โดยรวมพบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นมากกว่า 50%

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น