xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์เตือน “เชื้อมาลาเรียดื้อยา” ระบาดในอาเซียน “ไทย” ติดโผพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – เชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อต่อการรักษาเริ่มแพร่ระบาดหนักแถบพื้นที่ชายแดนของ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออเฉียงใต้ รวมถึง “ไทย” และอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อความพยายามควบคุมโรคชนิดนี้ในระดับนานาชาติ

จากการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย 1,241 คน พบว่า เชื้อปรสิตที่ดื้อต่ออาร์ทิมิซินิน (Artemisinin) ได้แพร่ระบาดตามแนวชายแดนตะวันตกและเหนือของกัมพูชา ชายแดนตะวันออกของเมียนมาร์ รวมถึงไทย และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังพบสัญญาณของเชื้อที่ดื้อยาทางตอนกลางของเมียนมาร์ ลาวตอนใต้ และภาคเหนือของกัมพูชา ทว่าไม่พบแนวโน้มดังกล่าวในตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ป่วยใน 3 ประเทศแอฟริกา ได้แก่ เคนยา ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ระบุว่า หากขยายเวลาในการให้ยาต้านเชื้อมาลาเรียจาก 3 เป็น 6 วันอาจจะต่อสู้ภาวะดื้อยาของเชื้อปรสิตได้ ทว่าในความเป็นจริงเวลามีน้อย

“แม้มีความเป็นไปได้ที่จะสกัดกั้นไม่ให้เชื้อปรสิตมาลาเรียที่ดื้อยาอาร์ทิมิซินินแพร่กระจายไปทั่วเอเชียและลามไปยังทวีปแอฟริกา แต่ประตูแห่งโอกาสก็ปิดลงเร็วมาก”นิโคลัส ไวท์ อาจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุ

“วิธีควบคุมการแพร่ระบาดของมาลาเรียแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอแน่ เราอาจต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาด และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ กับโรคนี้โดยรอช้าไม่ได้”

ผลการศึกษาเมื่อไม่นานนี้แสดงให้เห็นว่า อาร์ทิมิซินินเริ่มจะด้อยประสิทธิภาพในการรักษาโรคมาลาเรียซึ่งแพร่ระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากเป็นจริงก็จะถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบครึ่งศตวรรษที่เชื้อปรสิตมาลาเรียสามารถพัฒนาตัวเองจนสามารถต่อต้านยาที่มนุษย์ผลิตขึ้น

เชื้อปรสิตซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควิน (Chloroquine) ได้แพร่จากเอเชียไปยังแอฟริกาในช่วงทศวรรษ1950-1970 หลังจากนั้นจึงได้มีการผลิตตัวยา ซัลฟาด็อกซิน-ไพรีเมธามีน (Sulphadoxine-pyrimethamine) หรือ เอสพี มาใช้แทนคลอโรควิน แต่ก็ปรากฏอาการดื้อยาของเชื้อปรสิตแถบตะวันตกของกัมพูชา ก่อนที่มันจะแพร่กระจายต่อไปยังแอฟริกาอีกระลอก

การเสื่อมประสิทธิภาพของ เอสพี นำมาสู่การพัฒนาตัวยาอาร์ทิมิซินิน ซึ่งสกัดได้จากสมุนไพรจีนที่ชื่อว่า ชิงเห่าซู่ (sweet wormwood)

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้แพทย์ใช้อาร์ทิมิซินินร่วมกับการรักษารูปแบบอื่นๆ ในกรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ เพื่อให้การกำจัดเชื้อปรสิตได้ผลสูงสุด

ทั้งนี้ หากการรักษาขาดตอน หรือเชื้อปรสิตยังไม่ถูกฆ่าจนหมด เชื้อที่เหลืออยู่ในร่างกายผู้ป่วยจะสามารถ “กลายพันธุ์” และส่งต่อยีนดื้อยาไปยังเชื้อรุ่นต่อๆ ไป

มาลาเรียคร่าชีวิตพลเมืองทั่วโลกไปราว 627,000 คนในปี 2012 โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ในทวีปแอฟริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น