xs
xsm
sm
md
lg

แมลงปรับตัวเริ่ด ดื้อสารเคมี ห่วงคุกคามสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทย์ชี้ แมลงปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมดี แถมแพร่พันธุ์ไว ดื้อต่อสารเคมี ห่วงพวกกลุ่มเป็นพาหะนำโรค คุกคามปัญหาสาธารณสุข จับมือโรงเรียนแพทย์ปรับกลยุทธ์กำจัดแมลง

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่โรงแรมดิเอมเพรส จ.เชียงใหม่ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรม “แนวทางใหม่ในการควบคุมยุงและแมลงอื่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุข” ว่า แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก แม้จะมีวงจรชีวิตที่สั้นแต่สามารถแพร่พันธุ์ได้จำนวนมากและรวดเร็ว เป็นเหตุให้จำนวนประชากรแมลงมีมากที่สุดและสามารถพบได้เกือบทุกที่บนโลก ซึ่งแมลงบางชนิดให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่มีจำนวนมากที่เป็นปัญหาสาธารณสุข เนื่องจากเป็นพาหะของโรคที่สำคัญ เช่น ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีลักษณะอากาศและอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแมลงเป็นอย่างดี จึงมักประสบปัญหาสาธารณสุขที่เกิดจากแมลงที่มีอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การควบคุมและป้องกันการกำจัดแมลง

นพ.อภิชัย กล่าวว่า แม้ว่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะมีการปรับปรุงวิธีการควบคุมและป้องกันกำจัดแมลงให้ได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชีววิทยาของแมลงแต่ละชนิดก็มีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนตลอดเวลาเช่นกัน อีกทั้งแมลงบางชนิดมีการปรับตัวให้เกิดการดื้อต่อสารเคมีอีกด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการปรับกลยุทธ์การกำจัดแมลงที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข โดยการบูรณาการความรู้ที่เป็นปัจจุบันและเทคนิคที่ทันสมัยในการป้องกันและกำจัดแมลงที่สำคัญทางการแพทย์ พร้อมถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

แมลงที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขนั้นทำให้เกิดโรคได้ 2 ประเภท คือ ทำให้เกิดโรคโดยตรง เช่น ผึ้ง ตะขาบ หรือ มด จะต่อยหรือกัดแล้วปล่อยสารพิษและสารระคายเคือง หรือพวกเหลือบ หมัด เหา จะกัดดูดเลือดจะทำให้เกิดความรำคาญและเกิดอาการแพ้ได้ อีกประเภทหนึ่งคือการเป็นพาหะนำโรค โดยแมลงนำเชื้อโรคมาสู่คนโดยตรง เช่น แมลงวันที่ตอมสิ่งปฏิกูลซึ่งอาจมีเชื้ออหิวาต์แล้วมาตอมอาหาร เมื่อคนรับประทานอาหารดังกล่าวก็ทำให้เกิดโรคได้ หรือ ยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เมื่อกัดคนแล้วจะทำให้เกิดโรค เช่น ไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น” นพ.อภิชัย กล่าว
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น