xs
xsm
sm
md
lg

สคร.7 อุบลฯ เผยมีผู้ป่วยไข้มาลาเรียพุ่งกว่า 2 พัน ตาย 1 ส่วนไข้เลือดออกลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เร่งรณรงค์ลดการระบาดไข้มาลาเรียตามแนวชายแดนที่เป็นป่าเขา หลังพบผู้ป่วยในจังหวัดกว่า 2 พันราย จากปีที่แล้วมีเพียง 120 ราย ส่วนไข้เลือดออกดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังเฝ้าระวังใกล้ชิดฤดูฝนนี้

นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียใน 7 จังหวัดอีสานตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 10 ก.ค. 2557 มีผู้ป่วย 2,370 ราย พบระบาดมากที่สุด คือ จ.อุบลราชธานี 2,185 คน เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงชาว อ.บุณฑริก อายุ 77 ปี รองลงมาเป็น จ.ศรีสะเกษ 155 คน ที่เหลือกระจายอยู่ใน 5 จังหวัด จังหวัดละ 3-12 คน

สำหรับพื้นที่การระบาดของ จ.อุบลราชธานี พบใน 2 อำเภอ คือ อ.บุณฑริก และ อ.นาจะหลวย ส่วน จ.ศรีสะเกษ อยู่ตามพื้นที่เทือกเขาชายแดนไทย-กัมพูชา สาเหตุเพราะประชาชนเข้าไปเก็บหาของป่า หรือรับจ้างนายทุนตัดไม้ในป่าตามเทือกเขาพนมดงรัก

นายแพทย์ศรายุธกล่าวว่า การระบาดของไข้มาลาเรียในพื้นที่ปีนี้มีสถิติสูงที่สุดของประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไม่ควรเข้าไปในป่าลึก หากจำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าให้หนาและมิดชิด ไม่ให้ยุงกัด งดการพักแรมในป่าอย่างเด็ดขาด เวลานอนให้กางมุ้งกันยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคกัด เมื่อมีอาการเป็นไข้และหนาวสั่น รวมทั้งมีเหงื่อออกให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาจะได้ไม่เสียชีวิต

ด้านการป้องกันมีการฉีดพ่นยาฆ่ายุงที่เป็นพาหะ เร่งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับยุงที่เป็นพาหะนำโรค แจกยาทากันยุงและมุ้งเคลือบสารเคมี รณรงค์ไม่ให้ประชาชนเข้าไปในป่าในระยะนี้

นายแพทย์ศรายุธกล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกใน 7 จังหวัดของปีนี้ว่าพบผู้ป่วยไม่ถึง 2,000 ราย ลดลงจากปีที่แล้วที่มีผู้ป่วยเกือบ 2 หมื่นคน แต่แม้มีผู้ป่วยไม่มาก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีผู้เสียชีวิต เป็นเด็กหญิงชาว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี สาเหตุการระบาดโรคไข้เลือดออกลดลงเพราะเจ้าหน้าที่มีการควบคุมรณรงค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับผู้ป่วยที่เคยป่วยแล้วจะไม่กลับมาป่วยใหม่อีก ทำให้การควบคุมทำได้ง่ายอยู่ในวงจำกัด

แต่ช่วงนี้เป็นฤดูฝน ฝ่ายควบคุมโรค สคร.7 ก็ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด ไม่ให้กลับมาระบาดอีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น