อุบลราชธานีมาลาเรียระบาดหนัก พบป่วยสูงสุดในประเทศ สูงกว่าปีที่แล้วถึง 8 เท่า แซงหน้าพื้นที่ระบาดประจำในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ คาดอาจโยงเหตุลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ระบุไม่เคยระบาดมาก่อน ทำชาวบ้านไม่รู้จักโรค ไม่ป้องกันตนเองป่วยไม่พบแพทย์ อาการจึงหนักและเสี่ยงเสียชีวิต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อีกโรคที่น่าเป็นห่วงในช่วงฤดูฝนคือ โรคมาลาเรีย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 มิ.ย. พบมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศคือ 2,837 ราย จากผู้ป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 11,036 ราย รองจากภาคใต้ จำนวน 3,745 ราย และภาคเหนือจำนวน 2,946 ราย โดยอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดของประเทศ คือ 2,384 ราย คิดเป็น 84% ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงกว่าปี 2556 ที่มีผู้ป่วย 289 ราย หรือสูงกว่า 8 เท่าตัว ประเด็นสำคัญคือประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ค่อยตระหนักถึงโรคนี้ เพราะไม่เคยมีการระบาดมาก่อน จึงไม่มีการป้องกัน เวลาเจ็บป่วยก็ไม่คิดว่ามาจากโรคมาลาเรีย จึงไม่ไปตรวจรักษา ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ จึงสั่งการให้กรมควบคุมโรค (คร.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เร่งให้ความรู้ประชาชนและเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีอาชีพหาของป่า ทำสวนยาง สวนผลไม้ เนื่องจากกลุ่มหาของป่า ล่าสัตว์ เป็นกลุ่มอาชีพที่พบว่ามีการป่วยมากที่สุด
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในอุบลราชธานีมักเป็นชาวบ้านที่เข้าไปในป่า ซึ่งอาจจะโยงไปถึงเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าด้วย เพราะที่ผ่านมาเพิ่งมีข่าวจับขบวนการลักลอบตัดไม้ ส่วนอีกพื้นที่ที่น่าห่วงคือภาคตะวันออก บริเวณ จ.ตราด และ จันทบุรี ซึ่งมีทหารเข้าไปประจำอยู่ชายแดน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือต้องเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันตัวเองจากการถูกยุงก้นปล่องกัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อมาลาเรีย เช่น เข้าป่า จะต้องทายากันยุง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ยุงก้นปล่องจะออกหากินเวลากลางคืน ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีผลในการป้องกัน ภายหลังกลับจากป่า ถ้ามีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ขอให้นึกถึงโรคมาลาเรีย ต้องรีบพบแพทย์รักษาทันที
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อประจำถิ่นในประเทศเขตร้อน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เชื้อที่พบในไทยมี 4 ชนิด ที่ตรวจพบมากในปีนี้ คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium Vivax) พบได้ร้อยละ 48 รองลงมาคือชนิดพลาสโมเดียม ฟาลซิฟารัม (Plasmodium Falciparum) พบร้อยละ 38 อาการป่วยจะปรากฏหลังถูกยุงกัด 10 - 14 วัน ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่เรียกว่ามาลาเรียขึ้นสมอง คือปวดศีรษะรุนแรง ตับโต น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมาลาเรีย จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และหากป่วยด้วยโรคนี้ครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรีย แต่หากติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง อาการมักจะไม่รุนแรง
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่