ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - โซเชียลมีเดียทำคนเชียงใหม่ตื่น หลังแชร์ข้อมูลอ้าง รพ.สวนดอก พบโรค “ลิชมาเนีย” ระบาดเชียงใหม่ มีผู้ป่วยแล้วกว่า 20 ราย ขณะที่ จนท.รพ.ยันไม่มีผู้ป่วยถูก “ริ้นฝอยทราย” กัดมารักษาตัว ย้ำถ้ามีต้องรายงาน สสจ.-สื่อ เพื่อเตือนให้ประชาชนระวังแน่
วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียว่า “มี Sand fly นำโรค Lesihmaniasis ระบาดที่จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 20 ราย โปรดระมัดระวัง Sand fly กัด ซึ่งมีพิษที่ร้ายพอๆ กับยุง” โดยอ้างชื่อโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) ทำให้ผู้คนที่รู้ข่าวตื่นกลัวกันทั่ว
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับคำชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งเตือนในเรื่องนี้แต่อย่างใด และยังไม่ได้รับรายงานข้อมูลว่ามีผู้ป่วยที่ถูกแมลง Sand fly กัดมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล เพราะหากมีผู้ป่วยจริงทางโรงพยาบาลจะต้องแจ้งไปยังสารธารณสุขจังหวัด และสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างแน่นอน ซึ่งข่าวที่ออกไปยังโซเชียลมีเดียอาจจะมีคนที่ปล่อยข่าวออกไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดทางโรงพยาบาลฯ ก็ไม่อาจทราบได้ “แต่ก็ขอย้ำอีกครั้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยจากพิษของแมลง Sand fly เข้ามารักษาตัวยังโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่แต่อย่างใด”
ด้าน รศ.ดร.ปรัชญา สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า กรณีที่มีข่าวการแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่อง “หมอสวนดอกเตือนให้ระวังแมลง Sand Fly ทำให้เกิดโรค Lesihmanlasis ระบาดที่เชียงใหม่ พบแล้ว 20 กว่าราย” เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยมีการเสริมเติมแต่งข่าวโดยนำรูปแมลงใน Sand Fly และตัวตุ่น (ริ้นดำ) รวมทั้งรอยแผลบนผิวหนังผู้ป่วยที่ถูกแมลงกัดจากอินเทอร์เน็ตมาโพสต์ประกอบ ซึ่งทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนก และเกิดความสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น ข่าวดังกล่าวออกมาได้อย่างไร
จึงชี้แจงว่า เช้าวันที่ 18 มี.ค.ตนได้รับการติดต่อจาก สสจ.เชียงใหม่ สอบถามเรื่องนี้ พร้อมทั้งส่งเรื่องที่โพสต์กันมาให้ดู ซึ่งรู้สึกแปลกใจมาก จึงตรวจสอบพบว่า มีอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ภาควิชาอีกท่านหนึ่งเกี่ยวกับโรค Lesihmanlasis ที่พบในจังหวัดเชียงใหม่ และเห็นว่าโรคนี้มีอันตรายร้ายแรงจึงเตือนให้เพื่อนในกลุ่ม Line ไว้ ส่วนตัวเลขผู้ป่วย 20 กว่ารายเกิดจากการสับสน แท้ที่จริงเป็นตัวเลขโดยรวมของทั้งประเทศที่พบผู้ป่วยในอดีตจนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษา และติดตามโรคนี้พบว่า ในอดีตโรคนี้พบในผู้ที่เคยไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง ต่อมาพบว่า มีการติดเชื้อในประเทศไทยกว่า 10 จังหวัด ในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ในภาคเหนือมีรายงานพบผู้ป่วยในจังหวัดน่านและเชียงราย และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา พบในลำพูน 2 ราย เชียงใหม่ 1 ราย และล่าสุด ที่ผ่านมาอีก 1 ราย ระบาดวิทยาของโรคนี้ยังไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์
เท่าที่พบมีเชื้อ 2 ชนิด คาดว่าโรคนี้น่าจะเกิดจากเชื้อในสัตว์บางชนิด อาจเป็นสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงบางชนิด และถ่ายทอดมาสู่คนโดยแมลง Sand Fly (ริ้นฝอยทราย) หรือแมลงบางชนิดที่ต้องมีการศึกษาต่อไป ทั้งนี้ แม้ว่าโรคนี้จะถูกจัดว่าเป็นโรคที่อันตรายที่ต้องรายงาน และเฝ้าระวัง แต่ในประเทศไทยผู้ป่วยที่ปรากฏอาการยังนับว่ามีจำนวนน้อยอยู่มาก ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ค่อยดี มีการติดเชื้อในอวัยวะภายใน และบาดแผลที่ผิวหนัง ส่วนคนปกติอาจเป็นแผลเฉพาะที่ผิวหนัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อด้วย จึงไม่ควรวิตกกังวล หรือตื่นตระหนกจนเกินเหตุ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่รายละเอียดของโรค Lesihmaniasis หรือโรคลิชมาเนีย ไว้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ผ่านการถูกริ้นฝอยทราย (sand fly) ที่มีเชื้อกัด เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคหลายรูปแบบ ที่พบมากที่สุดคือ ชนิดที่มีผลต่อผิวหนัง หรือชนิดที่มีผลต่ออวัยวะภายใน โรคลิชมาเนีย พบได้ในหลายประเทศ (แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง จีน อินเดีย แถบทะเลแคริบเบียน และเคยมีรายงานในประเทศไทย)
สำหรับอาการของโรคลิชมาเนีย เมื่อติดต่อสู่คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีโรค และใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะแสดงอาการของโรคทางผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน อาการของโรคทางผิวหนังจะเริ่มจากมีตุ่มนูนแดง คัน ซึ่งอาจกลายเป็นแผล และเป็นสะเก็ด แผลมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็นนานหลายปี และกลายเป็นแผลเป็นถาวร การติดเชื้อที่มีผลต่ออวัยวะภายใน ได้แก่ ม้าม ตับ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเลือด อาการในรูปแบบนี้อาจมีผลรุนแรง หากไม่รักษาโดยด่วนอาจทำให้ตายได้