xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องถ่ายเอกสารอันตรายใกล้ตัว ใช้นานเสี่ยงรับโอโซน-ยูวี-สูดผงหมึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครื่องถ่ายเอกสารอันตรายใกล้ตัว! กรมอนามัยเผยใช้นานเสี่ยงรับ “โอโซน” ทำระคายเคืองตา วิงเวียน สูญเสียการรับกลิ่น มีแสงยูวีสะท้อนเข้าตา ทำกระจกตาอักเสบได้ พบผงหมึกส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ แนะตั้งให้ไกลจากคนทำงานในออฟฟิศ อบรมวิธีใช้งาน ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ สวมถุงมือ ใส่หน้ากากขณะเปลี่ยนผงหมึก

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ใช้งานเครื่องถ่ายเอกสารเป็นเวลานาน อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว เนื่องจากเครื่องถ่ายเอกสารมีกลิ่นสารเคมีและแสงยูวีจากหลอดไฟฟ้าพลังงานสูงที่สะท้อนเข้าดวงตาเสมอขณะถ่ายเอกสาร ซึ่งรังสียูวีดังกล่าวจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ แสบตา กระจกตาอักเสบ เกิดผื่นคันตามผิวหนัง นอกจากนี้ โอโซน หากได้รับในระดับความเข้มข้น 0.25 ppm ขึ้นไป จะทำให้ระคายเคืองต่อตา จมูก คอ หายใจสั้น วิงเวียนและปวดศีรษะ มีอาการล้า และสูญเสียการรับรู้กลิ่น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบหายใจ เช่น หอบหืด ไม่ควรสัมผัสโอโซน

อันตรายอย่างอื่นยังมี ผงหมึก ซึ่งมี 2 แบบ คือ 1. ผงคาร์บอนดำ 100% ผสมกับพลาสติกเรซินในเครื่องถ่ายเอกสารระบบแห้ง และ 2. ผงหมึกละลายในสารอินทรีย์ประเภทปิโตรเลียม ในเครื่องถ่ายเอกสารระบบเปียก ทั้ง 2 อย่างจัดเป็นสารเคมีอันตราย จึงต้องระมัดระวังขณะเติมหมึก และขณะทำความสะอาดฝุ่นผงหมึกที่ใช้แล้ว ไม่ให้สัมผัสกับผงหมึก หรือสูดดมเข้าไป ทั้งนี้ หากผงหมึกเปื้อนติดกระดาษจำนวนมาก ควรหยุดการทำงานของเครื่องถ่ายเอกสาร แล้วติดต่อบริษัทเพื่อซ่อมบำรุง เพราะหากสูดดมผงหมึกจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ จาม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ส่วนสารเคมีอื่นๆ เช่น เซเลเนียม แคดเมียมซัลไฟด์ ซิงค์ออกไซด์ และ โพลิเมอร์บางตัว ซึ่งเคลือบไว้ที่ลูกกลิ้งในเครื่องถ่ายเอกสาร มีลักษณะเป็นสารเรืองแสง ระเหยออกมาได้ในระหว่างถ่ายเอกสาร โดยปกติปริมาณสารเคมีเหล่านี้มีน้อยเกินกว่าจะตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เครื่องถ่ายเอกสารต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเอง ปิดฝาครอบให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน ติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องถ่ายเอกสาร สวมถุงมือขณะเติม หรือเคลื่อนย้ายผงหมึก ใส่หน้ากากกันฝุ่นเคมี โดยผงหมึกที่ใช้แล้วหรือหกตามพื้นขณะเติม ต้องนำไปกำจัดลงในภาชนะที่ปิดมิดชิด บำรุงรักษาเครื่องเป็นประจำ และให้ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารแยกไว้ที่มุมห้องที่ไกลจากคนทำงาน ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเอกสาร ควรได้รับการอบรมวิธีการใช้ ขณะที่ผู้ซ่อมบำรุงควรสวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับลูกกลิ้ง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น