xs
xsm
sm
md
lg

อย.รับ “หัวเชื้อกลิ่นแมงดานา” ทำกล่องโฟมละลาย แต่กินได้ ไม่อันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากคลิปวีดิโอ คลิปเตือนภัยหัวเชื้อแมงดา อันตรายมากๆ ในเว็บไซต์ Youtube
อย. รับ “หัวเชื้อกลิ่นแมงดานา” ทำกล่องโฟมละลายได้จริงตามคลิป เหตุมีสว่นผสมของสารอินทรีย์ที่ทำให้โฟมละลายได้ ยันไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค หากใส่ปริมาณตามคำแนะนำบนฉลาก ชี้ใส่มากกลิ่นฉุน กินไม่ได้ แถมอันตราย

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการส่งต่อคลิปวิดีโอทางสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ และ เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการนำวัตถุแต่งกลิ่นรส “กลิ่นแมงดานา” หยดลงบนกล่องโฟมแล้วทำให้กล่องโฟมละลายได้ ว่า วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากประเภทวัตถุแต่งกลิ่นรสตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส ซึ่งสารให้กลิ่นรสที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยก่อน และมีคุณภาพเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก หรือมีรายชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีของ FEMA ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสารให้กลิ่นรส

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ทั้งนี้ วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาได้จากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยสารอินทรีย์เหล่านี้ มีคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถทำให้โฟมละลายได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทุกชนิด อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นรสได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก มิใช่การหยดหรือเทลงไปโดยตรงบนแผ่นโฟมในปริมาณมากดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ

การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์วัตถุแต่งกลิ่นรส ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เช่น ชื่ออาหารระบุข้อความว่า “วัตถุแต่งกลิ่นรสธรรมชาติ” “วัตถุแต่งกลิ่นรสเลียนธรรมชาติ” หรือ “วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์” มีเลขสารบบอาหาร ระบุวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ในการใช้พร้อมวิธีใช้ ปริมาณสุทธิของอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต
ชนิดและปริมาณของสีที่ผสมในวัตถุแต่งกลิ่นรส (ถ้ามี) คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) และวันเดือนและปีที่ผลิตหรือหมดอายุ พร้อมทั้งควรศึกษาวิธีใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสที่แสดงบนฉลากให้เข้าใจ และใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำที่ระบุไว้ (ดังภาพตัวอย่าง) ไม่ใส่ในปริมาณที่มากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้อาหาร มีกลิ่นฉุนรุนแรง ไม่สามารถรับประทานได้ ยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ด้วย” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น