หมอรามาฯ เผยเด็กเป็น “กะเทย - ทอม” ตั้งแต่เล็ก เพราะดีกรีเพศตรงข้ามในตัวแรง พบ ด.ช. บางรายเป็นสาวตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ชี้ พ่อแม่ต้องยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของลูกจึงไร้ทุกข์ ส่วน “เกย์ - เลสเบียน” มักพบตัวตนในช่วงวัยรุ่น ระบุไม่มีหลักฐานการเลี้ยงดูมีผลต่อการเปลี่ยนเพศ ขณะที่สังคมรอบข้างเป็นแค่ตัวเร่งการแสดงออก ย้ำเพศไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอด
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร แพทย์ประจำคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเพศหลากหลายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกะเทย เกย์ ทอม ดี้ ฯลฯ แม้สังคมจะเปิดกว้างยอมรับมากขึ้น แต่ไม่ได้ยอมรับด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งจากการสำรวจเด็กมัธยมใน กทม. พบว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศนั้นครอบครัวไม่ยอมรับมากเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องเพศครอบครัวจำเป็นต้องยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก ไม่ใช่เพศสภาพ มิเช่นนั้นก็จะเป็นทุกข์ทั้งพ่อแม่และลูก ซึ่งการแก้ไขจำเป็นที่จะต้องปรับทัศนคติภายในครอบครัว โดย รพ.รามาธิบดี ให้บริการในเรื่องดังกล่าวผ่านคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ก.ย. 2557 ซึ่งกลุ่มเพศหลากหลายที่ให้บริการคำปรึกษานั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 10 - 24 ปี อย่างไรก็ตาม คลินิกฯเคยได้รับการส่งต่อให้ดูแลในกลุ่มเพศหลากหลายอายุ 6 ขวบด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศบางครั้งก็เริ่มรู้ตัวตั้งแต่วัยเด็ก
พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า การที่เด็กรู้ตัวว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น ส่วนใหญ่มาจากดีกรีทางเพศตรงข้ามสูง เช่น เป็นเด็กผู้ชายแล้วรู้ตัวว่าอยากเป็นผู้หญิง หรือที่เป็นกะเทยนั้น เพราะมีความเป็นผู้หญิงแสดงออกมาชัดเจนมาก ก็จะมีพฤติกรรมการแสดงออกไปในทางผู้หญิงตั้งแต่ยังเด็กเลย บางรายพบว่ารู้ตัวและแสดงออกตั้งแต่อายุ 2 ขวบด้วยซ้ำ ก็คือ จะเล่นแบบเด็กผู้หญิงเลย แต่หากดีกรีไม่แรงพอก็อาจจะแสดงออกมาในรูปแบบของเด็กผู้ชายที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม การแสดงความเป็นหญิงหรือชายออกมาที่ต่างจากเพศสภาพของตนนั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางชีวภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมอง ยีน ส่วนการเลี้ยงดูที่ผิดปกติ การทารุณกรรมจนทำให้อัตลักษณ์ทางเพศเปลี่ยนแปลงไป ยังไม่มีหลักฐานหรือการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ว่ามีความเกี่ยวข้อง ส่วนกลุ่มที่เป็นเกย์หรือชายรักชาย และเลสเบียนที่ชอบผู้หญิงนั้น ส่วนใหญ่จะพบตัวตนในช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่สนใจเพศตรงข้าม
“สังคมและสิ่งแวดล้อมยังไม่มีหลักฐานว่าทำให้อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพ แต่สังคมเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้พวกเขาเปิดเผยตัวได้มากขึ้น อย่างเช่น การเรียนโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วน ก็ทำให้คนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นกลุ่มเพศหลากหลายอยู่แล้วได้แสดงตัวมากขึ้น ที่สำคัญคือ ช่วงวัยรุ่นดังกล่าวเป็นช่วงวัยที่แสวงหาตัวตนของตัวเอง อย่างกลุ่มโรงเรียนหญิงล้วน พอเห็นคนที่เป็นทอมมีความโดดเด่น เท่ คนรุมชอบ ก็มีความรู้สึกที่อยากจะเป็นบ้าง คนที่มีความเป็นผู้ชายในตัวสูงพอสมควรจึงกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนตามไป อย่างไรก็ตาม แต่หากรสนิยมทางเพศจริงๆ แล้วไม่ได้ชอบผู้หญิง ก็ยังมีโอกาสกลับมาแต่งงานกับผู้ชาย มีลูกตามเดิมได้” พญ.จิราภรณ์ กล่าว
พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า เรื่องทางเพศจึงไม่ใช่เรื่องที่หยุดนิ่ง เพราะเพศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ไม่ใช่ว่าเป็นเพศไหนแล้วต้องเป็นเพศนั้นเลย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง ไม่ได้สุดโต่งอย่างกลุ่มผู้ชายแท้ๆ ที่ชอบผู้หญิง หรือผู้หญิงแท้ๆ ที่ชอบผู้ชาย หรือผู้ชายที่อย่างไรก็ชอบผู้ชายไม่มีวันชอบผู้หญิง แต่คนที่อยู่ตรงกลางมีสิทธิสามารถเปลี่ยนเพศไปมาได้ตลอดเวลา วันหนึ่งผู้ชายคนนี้เขาอาจจะชอบผู้หญิง วันหนึ่งอาจจะชอบผู้ชาย หรืออีกหน่อยก็อาจจะกลับมาชอบผู้หญิงอีกก็ได้ ซึ่งการที่เขาจะชอบแบบไหนนั้น ตัวของเขาจะรู้ดีที่สุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่