ไทยเตรียมส่งทีมแพทย์อีก 2 ชุด ช่วยเหยื่อแผ่นดินไหวเนปาล วันที่ 7 พ.ค. นี้ ระบุชุดแรกขยายความช่วยเหลือไปเมืองพาชคาล อีกชุดไปผลัดเปลี่ยนกับทีมแรกที่ซิปปะกัต เน้นสร้างการมีส่วนร่วมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเนปาลและชุมชน เพื่อป้องกันโรค สร้างสุขาภิบาล โครงสร้างพื้นฐาน ดูแลสุขภาพจิต
วันนี้ (4 พ.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังประชุมศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว (วอร์รูม) เนปาล ว่า ที่ประชุมได้รับการประสานจากทีมแพทย์ไทยหรือทีมเมิร์ตที่เนปาล ว่า สธ. เนปาล จะให้ทีมแพทย์ไทยขยายความช่วยเหลือไปยังบริเวณเมืองพาชคาล (Pachkhal) ซึ่งมีจำนวนครอบครัวกว่า 1,500 หลังคาเรือน โดยอยู่ห่างจาก ต.ซิปปะกัต ไปประมาณ 14 กิโลเมตร พบว่า บ้านเรืองพังเสียหายเป็นจำนวนมาก และยังมีผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย โดยที่บริการด้านการแพทย์ยังคงเข้าไปไม่ถึง ทั้งนี้ วอร์รูมมีข้อสรุปว่าจะส่งทีมแพทย์ชุดปฏิบัติการของไทยไปช่วยเหลืออีก 2 ชุด ชุดละประมาณ 20 คน รวมเป็น 40 คน คือ 1. ทีมแพทย์ชุดปฏิบัติการที่พาชคาล ประกอบด้วย ทีมจาก รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รพ.ภูเก็ต กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลในภูมิภาคสังกัด สป.สธ.
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า และ 2. ทีมแพทย์ชุดปฏิบัติการที่ซิปปะกัต ซึ่งเป็นทีมที่สองที่จะเดินทางไปผลัดเปลี่ยนกับทีมแพทย์ชุดแรก ประกอบด้วย ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.ศิริราช กรมการแพทย์ สป.สธ. ซึ่งทั้งสองทีมจะมีอาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต และกรมควบคุมโรคร่วมด้วย เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต และโรคติดต่อในเชิงรุก โดยทั้งหมดจะเดินทางในวันที่ 7 พ.ค. นี้ โดยจะมีการปฐมนิเทศในวันที่ 6 พ.ค. ส่วนการเดินทางยังต้องรอการประสานว่าจะเดินทางโดยสายการบินไทย หรือเครื่องบินของกองทัพอากาศ ส่วนทีมแพทย์ชุดแรกมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 9 พ.ค. เพื่อรอการถ่ายงานให้กับทีมแพทย์ชุดต่อไปก่อน
“ขณะนี้นับเป็นเวลา 10 วันแล้ว หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตทะลุ 7,000 ราย บาดเจ็บเกินกว่า 10,000 คน ซึ่งการบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวลดลง แต่พบโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ดังนั้น ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะลดลง โดยจะส่งอายุรแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไปให้ความช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ คือ 1. สร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและชุมชนให้ร่วมดูแลสุขาภิบาล อนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บตามมา 2. ป้องกันภาวะความเครียดของผู้คนจากความสูญเสีย 3. ช่วยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและถ่ายงานคืนให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ 4. พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรคเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และไข้สมองอักเสบ ฉีดให้แก่ทีมแพทย์ที่กำลังจะเดินทางไปเนปาล และให้เฝ้าระวังทีมแพทย์ที่จะเดินทางกลับมาเป็นเวลา 30 วัน ส่วนกลุ่มผู้สื่อข่าวที่เดินทางไป จะทำคู่มือในการเฝ้าระวังตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บ มอบให้กับสมาคมผู้สื่อข่าว ส่วนกรมอนามัยได้ให้เตรียมเครื่องกรองน้ำสนามเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งไปพร้อมกับทีมแพทย์ชุดที่สอง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่