xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเหมารวม “เด็กเร่ร่อน” ของครูข้างถนน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขอทาน เช็ดกระจกรถ ขายพวงมาลัย ขายบริการทางเพศ อาชญากรรม เสพยา ดมกาว ค้ายาเสพติด ฯลฯ “เด็กเร่ร่อน” อีกปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ถูกซ่อนไว้ในตรอก ซอก ซอย บนท้องถนน กลางสี่แยก และขอบประตูชายแดน แต่เหตุใดทุกคนจึงพุ่งเป้าแต่ประเด็น สหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ตกไปอยู่ระดับ 3 กลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด และกรณีที่สองสหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู)
ทั้งที่ “เด็กเร่ร่อน” ก็เป็นผลพวงของปัญหาดังกล่าวเช่นกันซ้ำเด็กเร่ร่อน ขอทาน ยังถูกเหมาว่าเป็นการค้ามนุษย์อีกด้วย

ศึกษาแนวทางเชิงนโยบาย (รูปแบบที่เหมาะสม) ในการคุ้มครองสวัสดิภาพแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดการทำงานจริงของกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม (นปปส.) รุ่นที่ 2 ภายใต้โครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Leadership for Social Change)โดยความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการศึกษาประเด็นแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างมากในสังคมปัจจุบันและสังคมโลกอาเซียนในเร็ววันนี้

น.ส.ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน และ นปปส. รุ่น 2 อธิบายว่า แม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวมาเป็นขอทานอาจเกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯ.? หลายคนบอกว่าขอทานคือค้ามนุษย์ แต่เด็กเร่ร่อนขอทานบางเคสเป็นส่วนหนึ่งของค้ามนุษย์ไม่ใช่ทุกเคสเกิดอะไรขึ้น เริ่มต้นเด็กเหล่านี้ที่มาเร่ร่อนต้องขอทานโตขึ้นมาเก็บขยะ ขายเรียงเบอร์ ขายพวงมาลัย ก่ออาชญากรรม เสพยา และเข้าสู่วงจรของการขายบริการทางเพศอย่างเปิดเผยอีกทั้ง วันนี้ไม่ต้องวิ่งไปหาปัญหาที่ตะเข็บชายแดน เพราะปัญหามาอยู่ใจกลางเมืองให้เห็นอยู่ทุกวัน ดังนั้น องค์กร หน่วยงาน บุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการทำงานในรูปแบบใหม่ด้วยความสัมพันธ์ของเครือข่าย องค์ความรู้ การเท่าทันความเป็นอาเซียน ซึ่งเราไม่ได้มองว่าอาเซียนคือพระจ้า แต่ปัญหาทั้งหมดมาอยู่ในประเทศไทยแล้ว

“สิ่งที่ต้องพยายามทำต่อไป คือการส่งเด็กเข้าเรียนหนังสือ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลการรับรองการเกิดสู่การมีสูจิบัตรที่ระบุสัญชาติของเด็ก เพราะถ้าเด็กไม่มีสูจิบัตรเรียนต่อไม่ได้ ทำงานก็ไม่ได้ และสิ่งที่ต้องพยายามให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ยังมีประเด็นสำคัญอีก 3 ประเด็นคือ 1. จะต้องใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กมากกว่า พ.ร.บ. ค้ามนุษย์หรือไม่ 2. เด็กสองสัญชาติจะกลับประเทศได้อย่างมีคุณภาพ และ 3. รัฐต่อรัฐจะทำอย่างไรฉะนั้น เราพยายามให้ปัญหานี้ไปอยู่ในสภาอาเซียนให้ได้”น.ส.ทองพูล กล่าว

ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และสมาชิกโครงการศึกษาแนวทางเชิงนโยบายฯ กล่าวว่า ในการทำงานที่ผ่านมา เราได้ให้นิยามคำว่าเด็กเร่ร่อนเพื่อเป็นโจทย์ในการทำงาน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เด็กเร่ร่อนที่ตัดขาดความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ยากมากในการเข้าถึง เพราะเขาสั่งสมปัญหามานานหลายปี กลุ่มที่ 2 เด็กไม่ตัดขาดความสัมพันธ์ครอบครัว กลุ่มนี้พบว่ามีอยู่จำนวนมากโดยเด็กนั้นออกมาเร่ร่อนตามที่ต่างๆ แต่ก็กลับไปอยู่กับครอบครัว และ 3. กลุ่มที่ออกมาอยู่กับแม่และครอบครัว ใช้ชีวิตบนท้องถนน นอนตามบาทวิถีไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งกลุ่มนี้พวกตนไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดว่ามากน้อยเพียงใด ซึ่งการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนเหล่านี้ และได้เสนอทางแก้ไข 5 รูปแบบ ดังนี้ 1. ครูข้างถนน ซึ่งจะเป็นกำลังหลักและเข้าถึงเด็กได้ 100% แต่จะไม่ใช่แค่เพียงดูแลเด็กทั่วไปแต่ต้องเพิ่มการติดอาวุธทางปัญญามากขึ้นและรวมถึงช่วยดูแลเรื่องสถานะบุคคลของแม่และเด็กเร่ร่อนด้วย 2. ดึงเด็กจากสถานการณ์ความเร่ร่อน 3. การให้ความช่วยเหลือของ พม. 4. การได้เรียนรู้จากองค์กรเฟรนด์ทำงานกับเครือข่าย คือเมื่อเด็กกลับไปประเทศได้จริงจะทำให้เขาอยู่รอดได้อย่างไร และ 5.กลุ่มที่ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการใกล้ชิดอย่างเป็นนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเราเริ่มจากการมอง “คน” ทุกคนด้วยสายตาที่เท่าเทียมก็ยังเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนไม่ให้รุนแรงไปกว่าที่เป็นอยู่ได้

ปัญหาไม่มีทางแก้ไขได้ที่ปลายเหตุ ถ้าไม่เจอ “ราก” แล้วจะถอนรากถอนโคนได้อย่างไร ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะร่วมกันก้าวผ่านปัญหาใหญ่นี้ไปได้



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น