xs
xsm
sm
md
lg

เร่งฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-ไข้หวัดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เร่งฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน ให้เด็กที่เกิดระหว่าง 1 มิ.ย. 2554 - 31 ม.ค. 2553 รวมกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ หวังกวาดล้างโรคให้หมดจากไทย พร้อมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3.4 ล้านโดสให้ 8 กลุ่มเสี่ยง เน้นเด็กกับหญิงตั้งครรภ์ หลังพบมาฉีดน้อย

วันนี้ (8 พ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีโครงการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันให้กับเด็กตามเกณฑ์มาตั้งแต่ปี 2527 แต่ยังพบการระบาดของโรคอยู่ โดยในปี 2557 มีผู้ป่วย 1,184 คน ส่วนปี 2558 ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.พบผู้ป่วยโรคหัด 255 ราย หัดเยอรมัน 152 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต สธ.จึงได้จัดโครงการฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด-หัดเยอรมัน ให้กับเด็กอายุ 6 เดือน 2 ปีและ 6 ปี หรือเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2551-31 ม.ค.2555 ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อกวาดล้างโรคดังกล่าวให้หมดไปภายในปี 2563 ทั้งนี้ ประเทศไทยยังตั้งเป้าลดอัตราการเกิดโรคให้เหลือ 1 ต่อ 1 ล้านประชากรเด็ก โดยเริ่มฉีดตั้งแต่พ.ค.-ก.ย.นี้ ที่รพ.รัฐทุกแห่ง

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง 8 กลุ่ม จำนวน 3.4 ล้านโดส ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปีขึ้นไป 3. ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมอง 6. โรคธาลัสซีเมียและภูมิคุ้มกันบกพร่อง 7.โรคอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กก. ดัชนีมวลกายเกินค่ามาตรฐาน และ 8. บุคลากรสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่จะเน้นในกลุ่มเด็ก กับหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษเพราะที่ผ่านมามีการมารับวัคซีนน้อยมาก

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคหัด หัดเยอรมันถือว่าเป็นโรคอันตรายในเด็กส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร อาการสำคัญคือ เกิดโรคแทรกซ้อนปอดบวมเยอะมาก เช่นปอดบวม และท้องเสียดื่มนมไม่ได้ จนเกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะขาดวิตามินเอ จนทำให้เกิดภาวะตาบอดตามมา และหากเชื้อขึ้นสมองจะทำให้เกิดการชัก ในกรณีที่ไม่มีผื่นขึ้นหรือเรียกว่าไข้หลบในนั้นจะมีอาการชักเรื่อยๆ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะเข้าไปช่วยทำให้เชื้ออ่อนแรง ปลอดภัยหากเด็กได้รับเชื้อเข้าก็จะไม่เป็นหัดชนิดรุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน

พญ.วิบูลพรรณ ฐิตดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ถือว่าสำคัญมาก เพราะถือเป็นกลุ่มที่ร่างกายอ่อนแอเนื่องจากสรีระร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ และหลอดเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 60 ระบบภูมิคุ้มกันโรคจะเปราะบางมากกว่าปกติ หากมีการติดเชื้อจะมีการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น และเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้เด็กมีปัญหาสุขภาพตามมา แต่หากหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไปได้รับภูมิคุ้มกันก็จะเป็นการปกป้องลูกไปด้วย โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนหลังคลอด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น