xs
xsm
sm
md
lg

โปรตีนกับผู้สูงอายุ/ศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โครงสร้างประชากรทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเปรียบเทียบจากเมื่อสิบปีก่อนทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุประมาณ 350 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 8.54 แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.41 เมื่อมีอายุที่มากขึ้นปัญหาสุขภาพก็มักจะตามมาโดยโรคที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกและข้อ โรคติดเชื้อ โรคอัลไซเมอร์ และภาวะทุพโภชนาการจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรไทย ปี พ.ศ. 2556 พบว่า ประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุยังรับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งตรงกับการสำรวจของประเทศอื่นๆ ที่พบว่าส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมักจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่สำคัญที่ผู้สูงอายุมักได้รับไม่เพียงพอ

โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุอย่างมาก เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และส่งผลให้กล้ามเนื้อกระชับกระดูกให้แข็งแรงตามมา และทำให้การทำงานของกลไกต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างสมบูรณ์ด้วย เนื่องมาจากเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกายล้วนประกอบด้วยโปรตีนทั้งนั้น แหล่งอาหารที่มาของโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม และ ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว ธัญพืชต่างๆ โดยปกติแล้วร่างกายจะต้องการโปรตีนเพื่อซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายประมาณ 40 - 60 กรัมต่อวัน หรือมื้อละประมาณ 12 - 20 กรัม

สำหรับผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่แล้ว มื้ออาหารเช้ามักเป็นมื้อที่ได้รับโปรตีนน้อยที่สุด งานวิจัยค้นพบว่าการได้รับสารอาหารในกลุ่มโปรตีนควรที่จะไดรับกระจายไปทั้งวันไม่ใช่เพียงมื้อใดมื้อหนึ่ง จึงจะช่วยให้ร่างกายดึงไปใช้ได้ดีที่สุดช่วยในการบำรุงร่างกายและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุร่างกายต้องการโปรตีนที่มีคุณภาพสูงในอาหารมื้อเช้าดังนั้นมื้อเช้าจึงควรได้รับโปรตีนที่ดี เช่นโปรตีนจากไข่ โปรตีนจากนม เต้าหู้ นมถั่วเหลือง

การที่ผู้สูงอายุได้รับโปรตีนที่เพียงพอจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีแรงมากขึ้นจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ไม่รู้สึกหิวและไม่มีแรง ช่วยให้ผู้สูงอายุควบคุมน้ำหนักได้ดี ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับโปรตีนที่เพียงพอมักจะอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ที่รับประทานโปรตีนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ได้รับโปรตีนที่มาจากนมและถั่วต่างๆยังได้รับสารอาหารที่ดีอย่างอื่นต่อร่างกายอีก เช่น แคลเซียม วิตามินดี วิตามินเอ ใยอาหาร รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

เนื่องจากโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะใช้เวลาในการย่อยที่นานและจะมาพร้อมกันกับไขมันอิ่มตัว สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาของโรคไขมันในเลือดและโรคความดันโลหิตสูงจึงควรระวังการได้รับโปรตีนจากสัตว์ที่มากเกินไป และไม่ควรรับประทานโปรตีนในปริมาณมากก่อนนอนเพราะจะทำให้ไม่สบายท้องและนอนไม่หลับ ทางที่ดีควรทานโปรตีนร่วมกับมื้ออาหารทุกมื้อในปริมาณไม่มากเกินไป
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น