xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กเต่า” ฟุ้ง 6 เดือน ช่วยคนไทยมีงานทำเพิ่ม โบ้ย “เกษตรฯ” แก้อียูให้ใบเหลืองประมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“บิ๊กเต่า” แถลงผลงาน 6 เดือน ฟุ้งช่วยคนไทยมีงานทำเพิ่ม 2.2 แสนคน ส่งคนไปทำงาน ตปท. อีก 4.5 หมื่นคน สร้างรายได้ร่วมสองแสนล้านบาท เร่งขยาย “แรงงานนอกระบบ - คนพิการ - คนพื้นที่สูง” เข้าสู่การจ้างงาน ภายใน 6 เดือน แจงแก้ค้ามนุษย์ - แรงงานประมงทำเต็มที่แล้ว โบ้ย ก.เกษตรฯ แก้ปัญหาอียูให้ใบเหลืองทำประมงจ่อคลอด กม. ลูกประกันสังคม 17 ฉบับ ใน 120 วัน

วันนี้ (22 เม.ย.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวผลงานของกระทรวงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ คือ การตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย หรือ Smart Job Center เชื่อมโยงระบบออนไลน์ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการจัดหางานได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งจากการเร่งรัดดังกล่าวทำให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 224,587 คน และจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศจำนวน 45,087 คน คาดว่าจะทำให้มีเงินถึงมือพี่น้องแรงงานร่วมแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงจะขยายการดูแลบุคคลกลุ่มต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ แรงงานนอกระบบ คนพิการ และคนในพื้นที่สูง และจะสร้างระบบหลักประกันและความยั่งยืนให้กลุ่มคนดังกล่าว

ในส่วนของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กระทรวงจะประชุมในวันที่ 24 เม.ย. นี้ ส่วนคนพิการพบว่าในไทยมีประมาณ 1.6 ล้านคน สามารถใช้แรงงานได้ประมาณ 7 แสนคน แต่มีคนพิการที่อยู่ในระบบการจ้างงานเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น ก็ต้องเร่งดำเนินการให้ที่เหลือกว่า 4 แสนคนมาช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ซึ่งเมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับผู้ประกอบการกว่า 20 แห่ง จ้างงานผู้พิการทำงานในชุมชน รวมไปถึงงานด้านการศึกษา รณรงค์เมาไม่ขับ เป็นต้น ทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการแล้ว 400 - 500 คน สำหรับคนในพื้นที่สูงใน 20 จังหวัด อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาในการหางานที่เหมาะสม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่อยากออกนอกพื้นที่หรือเข้าไปทำงานในเมือง” รมว.แรงงาน กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวนั้น ที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนผ่าน One Stop Service 1.6 ล้านคน ขณะนี้สามารถตรวจสอบสัญชาติได้แล้วประมาณ 3 แสนคน ส่วนกลุ่มที่รอการตรวจสอบสัญชาติอยู่นั้น สาเหตุที่ล่าช้ามาจากเอกสารไม่ครบ จึงได้มีการผ่อนผันให้เปลี่ยนบัตรใหม่โดยสามารถอยู่ต่อได้อีก 1 ปี สำหรับกลุ่มที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายหากพบเจอจะผลักดันกลับสู่ประเทศ ส่วนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายผ่านการทำ MOU ระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้ทำงานได้ 2 ปี และต้องกลับประเทศ 3 ปี จึงจะกลับเข้ามาใหม่ได้ ตอนนี้ผ่อนผันให้เหลือเพียง 30 วัน

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงยังเดินหน้าเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทั้งทำให้สถานประกอบการปลอดภัย ไม่บาดเจ็บจากการทำงาน มีสถานประกอบการเข้าร่วม 7 - 8 พันแห่ง การคุ้มครองสิทธิเลิกจ้าง และการดำเนินการเจรจาทวิภาคี เพื่อให้ความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้างจบที่โรงงาน ซึ่งสามารถทำได้หลายแห่งแล้ว สำหรับประกันสังคม ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 แล้ว จากนี้จะเร่งทำกฎหมายลูกอีก 17 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 120 วัน

การดำเนินงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งไทยถูกติงว่าไม่เจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่เข้มงวด ขณะนี้รัฐบาลขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติแล้ว มีโครงร่างกฎหมายที่ชัดเจน วางแนวทางการดำเนินงานตั้งแต่ระดับผู้บริหารถึงปฏิบัติการ ซึ่งกระทรวงได้ทำรายงานส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งถึงสหรัฐอเมริกาแล้ว คงต้องรอการพิจารณาในช่วง มิ.ย. นี้ สำหรับกรณีสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย เพราะเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู) นั้น สิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานคือ เรือประมงที่ต้องติดระบบติดตามเรือ เครื่องมือทำประมงไม่ได้มาตรฐาน และแรงงานประมงสุ่มเสียงต่อการค้ามนุษย์นั้น 2 ส่วนแรกเป็นสิ่งที่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องทำการแก้ไข” รมว.แรงงาน กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนความสุ่มเสี่ยงในการค้ามนุษย์ เช่น ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กระทรวงได้ทำรายงานส่งไปตั้งแต่ มี.ค. แล้ว ว่า มีการดำเนินงานให้เกิดใช้แรงงานที่ได้มาตรฐาน โดยการออกกฎกระทรวง เช่น ไม่ใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กำหนดแบบสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ การจัดเวลาพักของลูกจ้างให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อการทำงาน 24 ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อการทำงาน 7 วัน ตลอดจนสภาพแวดล้อม ในการทำงานที่ปลอดภัย ก็คงต้องรอให้ทางสหภาพยุโรปพิจารณา นอกจากนี้ จะให้ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งศึกษาเกาหลีใต้ และ ฟิลิปปินส์ ว่าทำดำเนินการแก้ปัญหาการได้ใบเหลืองเป็นใบเขียวอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผลักดันให้เกิดการจ้างงานคนพิการ แต่มีการศึกษาพบว่า คนพิการไม่อยากเข้าสู่ระบบการทำงาน เนื่องจากขาดสิทธิการรักษาระหว่างเปลี่ยนจากบัตรทองมาสู่ประกันสังคม นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ได้นำเข้าสู่คณะอนุกรรมการแล้ว แนวโน้มในการหารือ คือ ทำอย่างไรให้ผู้พิการไม่เสียสิทธิ ซึ่งตรงนี้ยังต้องรอหารือกับทางคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานด้วย นอกจากนี้ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องส่งรายชื่อผู้พิการที่จะมาเข้าสู่ระบบประกันสังคมให้ สปส. ด้วย เพราะ สปส. ไม่มีข้อมูล และมาตรฐานระบบข้อมูลไอทีของทั้งสองหน่วยงานไม่เท่ากัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น