xs
xsm
sm
md
lg

ตามดู แถลงผลงานรายกระทรวง วันแรก “มท. กต. อุตฯ วิทย์ฯ ทท.” หรือ แค่ “งานประจำ ขรก.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แถลงผลงานรายกระทรวง วันแรก มท. โชว์ผลงานเด็ด แจงที่ดินให้ประชาชน 3,830 แปลง กระทรวงอุตสาหกรรม แจง “คาดมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท” กระทรวงการต่างประเทศ เผยผลงาน อีเวนต์ เพียบ!” กระทรวงวัฒนธรรม ชี้ “ผลงาน 6 เดือน ไม่ตรงเป้า” กระทรวงวิทยาศาสตร์ โชว์ “ผลงาน 6 เดือน แค่งานประจำข้าราชการ” ด้าน กระทรวงพาณิชย์ ระบุ “ทวงแชมป์ส่งออกข้าวโลกคืนมาได้อีกครั้ง”

วันนี้ (21 เม.ย.) มีรายงานว่า ถือเป็นวันแรกของการแถลงผลงานของกระทรวงต่างๆ ในรอบ 6 เดือน ภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน วันนี้ถือเป็นคิวของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงวัฒนธรรม ส่วนวันพุธที่ 22 เม.ย. เป็นคิวของ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงยุติธรรม ตามด้วย วันพฤหัสบดีที่ 23 เม.ย. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ จะแถลงผลงาน เช่นเดียวกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อด้วยวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข จะแถลงผลงานเป็นชุดสุดท้าย

“ASTVผู้จัดการ” เรียบเรียงการแถลงผลงานของรัฐบาล รายกระทรวง ในวันแรกมานำเสนอ เริ่มด้วย

“ผลงานเด็ด แจงที่ดินให้ประชาชน 3,830 แปลง” กระทรวงมหาดไทย

1. การเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

2. การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขเพราะถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนด 7 มาตรการเข้มเพื่อป้องกัน สกัดกั้น ปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้ทุกจังหวัด อำเภอจัดชุดสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดเพื่อสกัดกั้นการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำทะเบียนแรงงานทุกกลุ่ม

3. การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ คือ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ 37 อำเภอ” โดยมี นายอำเภอเป็นหลัก ร่วมกับฝ่ายทหารและตำรวจ เพื่อดูแลความปลอดภัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมสั่งเพิ่มกำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จัดตั้งกองกำลังประจำถิ่น จัดตั้งศูนย์วิทยุระดับตำบล ของแผนยุทธการ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ทุกหมู่บ้าน การแก้ได้จะต้อมทำให้มีเอกภาพและบุรณาการ พร้อมติดตามการทำงานและประเมินแล้วว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

4. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้นการปฏิบัติ 3 ด้าน คือ การป้องกันโดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด และการปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจับกุมคดียาเสพติดแล้วจำนวน 2,774 คดี รวมผู้ต้องหา 3,187 คน

5. การแก้ไขปัญหาพื้นที่ภัยแล้งเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสำรวจหมู่บ้านและตำบล รวมถึงพื้นที่เกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

6. การสร้างความโปร่งใส การเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชาติ และการส่งส่งเสริมสินค้าและการพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งเสริมการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและมุ่งเน้นการพัฒนาช่องทางการตลาดเชิงรุกในทุกรูปแบบ รวมทั้งเชื่อมโยงสินค้าของชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

7. การพัฒนาที่ดินให้ประชาชนแล้ว 3, 830 แปลง ตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดิน 60 พรรษา 60 ร้อยแปลง” อีกกว่า 50,000 แปลง

8. แผนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จัดผังพื้นที่เฉพาะและผังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วเสร็จ 6 จังหวัด คือ สระแก้ว มุกดาหาร ตาก ตราด สงขลา หนองคาย

9. การปฏิรูปสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป 76 จังหวัด เป็นกลไกสำคัญปลูกฝังสำนึกรัก สามัคคี และแก้ปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคี สร้างความปรองดองในรูปแบบต่างๆ กว่า 90,000 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 11 ล้านคน.

“คาดว่า มูลค่าการลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท” กระทรวงอุตสาหกรรม

1. การแก้ไขข้อเรียกร้องของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุน ให้การประกอบธุรกิจสะดวกขึ้นและเป็นไปตามความพอใจของเอกชน

ทั้งนี้ ได้เร่งรัดการออกใบอนุญาตต่างๆ โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตการประกอบ/ขยายการประกอบกิจการโรงงานหรือ รง.4 ซึ่งได้ปรับลดระยะเวลาจากเดิมใช้เวลา 90 วัน เหลือ 30 วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการออกใบอนุญาต รง.4 ไปแล้ว 2,528 ราย เกิดการลงทุน 228,900 ล้านบาท การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุญาตใช้ที่ดิน 134 คำขอ แจ้งเริ่มประกอบกิจการแล้ว 215 คำขอ เงินลงทุน 219,000 ล้านบาท จ้างงาน 3,225 คน อนุญาตขยายโรงงาน 65 คำขอ เงินลงทุน 78,620 ล้านบาท จ้างงาน 3,923 ล้านบาท รวม 571,066 ล้านบาทเกิดการจ้างงานใหม่ 1 แสนคน คาดว่า มูลค่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมตลอดปี 2558 จะสูงถึง 1 ล้านล้านบาท

2. การแก้ไข ปัญหาขยะที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี โดยปีนี้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมมีพิษเข้าระบบกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน จากกากมีพิษทั้งหมดในระบบ 3 ล้านตัน พร้อมปรับแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้ลักลอบทิ้งขยะเป็นจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท

3. แผนการดำเนินงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อ และสนามทดสอบ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ จากร้อยละ 12.5 เป็นร้อยละ 20 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 150,000 ตันต่อปี ผลักดันโครงการจัดหาวัตถุดิบทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหิน การปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อรองรับมาตรฐานอาเซียน การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล เตรียมจัดงาน Thailand Expo 2015 และการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายจัดการให้กากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบเพิ่ม จากปัจจุบัน 1.03 ล้านตัน เป็น 1.2-1.5 ล้านตัน

“ผลงาน อีเวนต์ เพียบ!” กระทรวงการต่างประเทศ

แผนงานด้านการต่างประเทศ

รัฐบาลได้ดำเนินการด้านการต่างประเทศ ตามนโยบายข้อ 2.4 ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 57 ซึ่งเป็นการต่างประเทศที่ครอบคลุมแนวทางรอบด้าน ที่จะนำไปสู่ “ความมั่นคงของชาติ และความมั่งคั่งของประชาชน” โดยมีสาระสำคัญหลักๆ 5 มิติ

1. การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ โดยการเยือนต่างประเทศของผู้แทนรัฐบาลระดับสูง ทั้งในกรอบทวิภาคี และ พหุภาคี และการพบหารือกับผู้แทนและคณะทูตต่างประเทศที่ขอเข้าเยี่ยมคารวะผู้แทนระดับสูงของไทย โดยประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองไทย และต่อท่าทีไทยและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ลดระดับการเตือนการเดินทางมาประเทศไทยและไม่มีการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย อีกทั้งได้มีการเยือนไทยของบุคคลระดับสูงจากหลายประเทศ ตลอดจนการยอมรับบทบาทไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญต่างๆ

2. การต่างประเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายองค์รวมทั้งหมดในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการร่วมมือด้านรถไฟกับจีน และ ญี่ปุ่น โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดน และการผลักดันความร่วมมือในแก้ไขปัญหาผ่านกรอบอาเซียน อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาหมอกควัน การรับมือต่อภัยพิบัติ

3. การนำกลไกทางการทูตเชิงบูรณาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่งเสริมการทำงานในมิติต่างประเทศอย่างเป็นเนื้อเดียวกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ การดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ต่างประเทศมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อการดำเนินการของรัฐบาล และการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผ่านกลไกคณะกรรมการศูนย์เตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

4. การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีและอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน โดยการดูแลคนไทยในต่างแดน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน การพัฒนางานบริการประชาชน อาทิ การเปิดบริการหนังสือเดินทางด่วนพิเศษ และการเปิดบริการทำหนังสือเดินทางในวันเสาร์ระหว่างเดือนธันวาคม 57 - เมษายน 58 โดยมีผลงานสำคัญด้านการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ อาทิ การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยจากโจรสลัดโซมาเลีย การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างในอินโดนีเซียกว่า 200 คน การอพยพคนไทยออกจากลิเบียและเยเมน ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามกว่า 1,100 คน

5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติและความมั่งคั่งของประชาชนอย่างยั่งยืน อาทิ การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาโลกทัศน์ผ่านโครงการบัวแก้วสัญจร วิทยุสราญรมย์สัญจร และกงสุลสัญจร การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเยาวชนไทยในต่างประเทศ การพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการมูลนิธิยุวทูตความดีซึ่งมุ่งเน้น “การปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา พัฒนาโลกทัศน์” ตลอดจนโครงการปณิธานความดี ปีมหามงคล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสปีมหามงคลของสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2558 - 2560

ด้านการท่องเที่ยว

1. การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย “ปีท่องเที่ยววิถีไทย” และ “2015 Discover THAINESS" ผ่านช่องทางต่างๆ

2. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ

3. การอำนวยความสะดวกและบริการนักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาระบบอย่างครบวงจร และเน้นประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบให้นักท่องเที่ยวเกิดความอุ่นใจในการเดินทางมายังประเทศไทย

4. การปราบปรามอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

5. การช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในความเสียหายที่มิได้เกิดจากนักท่องเที่ยวเอง

6. การส่งเสริมความร่วมมือด้านท่องเที่ยวกับต่างประเทศ

7. การร่วมมือกับบริษัท Google ประเทศไทย เปิดมุมมองใหม่ให้นักท่องเที่ยวผ่านกูเกิลสตรีทวิว ในแหล่งท่องเที่ยว 10 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 14 แห่ง

ผลการดำเนินงานทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยระหว่างเดือน ม.ค. - เม.ย. 58 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 15,336,961 คน คนไทยเดินทางภายในประเทศประมาณ 82 ล้านครั้ง

ด้านการกีฬา

1. การส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ 3 รูปแบบ ในพื้นที่เขตเมืองหรือชุมชน ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และในพื้นที่ไหล่ถนน

2. การคืนสุขภาพและความภูมิใจให้กับประชาชน อาทิ การเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 โดยไทยได้อันดับที่ 6 และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา Asian Beach Games ครั้งที่ 4 โดยไทยได้อันดับที่ 1

3. โครงการธนาคารกีฬาเพื่อเยาวชนและประชาชน โดยได้จัดซื้ออุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์วัดสมรรถภาพร่างกายให้แก่ศูนย์เรียนรู้กีฬา 954 แห่ง ในทุกอำเภอทั่วประเทศ และโรงเรียน ตชด. 197 แห่ง

4. การฟื้นฟู อนุรักษ์ และเผยแพร่การละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทย โดยการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทย ในวิทยาเขตการศึกษาในประเทศในหลายจังหวัด

ด้านวัฒนธรรม

1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการจัดงานพระราชพิธี และงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมเผยแพร่พระราชกรณียกิจและเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ

2. การใช้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และนำความเป็นไทยสู่สากล โดยการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมสำหรับทูตานุทูตและผู้แทนระดับสูงของต่างประเทศ

3. การเสริมสร้างค่านิยมหลัก 12 ประการ และค่านิยมความเป็นไทย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดทั้งสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมคุณธรรมร่วมกับทุกภาคส่วน

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยการจัดแสดงทางวัฒนธรรม การบูรณะโบราณสถาน การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ การคุ้มครองมรดกทางศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการและงานเสวนาทางวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมวัฒนธรรมสำหรับผู้พิการ และการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมในพื้นที่ และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

6. การจัดกิจกรรมคืนความสุขในจังหวัดต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 57 จำนวน 19 ครั้ง และการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 9 กิจกรรม

7. การดำเนินงานตามนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยสร้างความมั่นคงทางภูมิปัญญา มั่นคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนฐานวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมตลาดนัดศิลปะและถนนสายวัฒนธรรมในจังหวัดต่างๆ และการคัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาแต่ละจังหวัด (C-POT)

การดำเนินการในภาพรวมของกลุ่มภารกิจมีความคืบหน้าไปมาก โดยด้านการต่างประเทศ ได้ทำให้ต่างประเทศมีความเข้าใจ เชื่อมั่น และมั่นใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการเสริมสร้างความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ด้านการกีฬา มีการวางรากฐานไปสู่การพัฒนาการกีฬาในทุกระดับ ด้านวัฒนธรรม ได้ทำให้ประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทย และชาวต่างชาติมีความชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งได้มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน มีการบูรณาการประสานสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จนประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

“ผลงาน 6 เดือน ไม่ตรงเป้า” กระทรวงวัฒนธรรม

มี เจตนารมณ์และนโยบายที่ได้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคู่ไปกับภารกิจหลักตามแผนยุทธศาสตร์ ของ วธ. เพื่อให้ครอบคลุมทั้งงานด้านอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์วัฒนธรรม มีการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ

1. การสร้างการวางรากฐานทางวัฒนธรรมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อน พ.ร.บ. สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ร.บ. วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ การเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเข้าสู่บัญชีมรดกโลกให้มากขึ้น เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังได้มีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยดูจากตัวชี้วัด ก็คือประชาชนเข้าใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นถึง ร้อยละ 35

ในส่วนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ และเข้าใจในการรักษาวัฒนธรรม พร้อมสานต่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งโครงการรณรงค์ค่านิยม 12 ประการ กิจกรรมเนื่องในโอกาสวันสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นั้น เราผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน เช่น การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการเผยแพร่พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ กิจกรรมรณรงค์ให้คนเข้าวัด ช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ

วธ. ร่วมกับภาคเอกชน ประชาชนในการรณรงค์ส่งเสริมการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเพิ่มขึ้น เช่น แต่งกายผ้าไทย รวมถึงการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบ การจัดถนนสายวัฒนธรรม การจัดตลาดนัดศิลปะ เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน และสร้างรายได้เข้าประเทศ


“นักท่องเที่ยว 16,746,899 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.42” กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

- สร้างความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยว ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวม 6 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 57 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีนักท่องเที่ยวถึง 16,746,899 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.42 คิดเป็นมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยว 823,959 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.81 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน, มาเลเซีย, รัสเซีย, ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ซึ่งจีนยังถือว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตมากสุดร้อยละ 69.87 และยังพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

- ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยแล้ว โดยคาดว่าในปีนี้ยังคงตั้งเป้ามูลค่าการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 22.8 และเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย มูลค่า 8 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.2 ส่วนพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา พัทยา และ กระบี่

- แผนงานเร่งด่วนของกระทรวงฯจากนี้คือจะจัดทำแผนปฎิรูปการท่องเที่ยวระยะยาวที่ได้ร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและชุมชนปรับปรุงรูปแบบการท่องเที่ยวให้สอดคล้องวิถีชุมชนแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพื่อดึงเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาสร้างความดึงดูดให้การท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมมั่นใจว่าแผนปฎิรูปการท่องเที่ยวจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อวางแผนการลงทุนระยะยาวต่อไป

- กำหนดแนวทางการท่องเที่ยวในปีนี้ ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งการจัดกิจกรรมกลุ่ม 12 เมืองต้องห้ามพลาด กิจกรรมประเพณีแต่ละพื้นที่ เส้นทางสายดอกไม้ กลุ่มความเป็นไทยวิถีไทย โดยมั่นใจว่าทั้ง 4 กิจกรรมนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น

“ผลงาน 6 เดือน แค่งานประจำข้าราชการ” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เน้น ปฏิรูปประเทศ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม เป็นข้อต่อให้ทุกกระทรวง รวมถึงภาคเอกชน

เพื่อเป็นพลังร่วม ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากความมุ่งมั่นตลอดมา นำไปสู่ผลงานที่เห็นเด่นชัดในหลายมิติ อาทิ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสู่เป้าหมายให้ไม่ต่ำกว่า 1% ของรายได้ประชาชาติ และมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยังได้ดำเนินการเพิ่มมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากเดิมที่ 200% เป็น 300%

รวมถึงการรับรองบริษัทเอกชนแทนการรองรับรายโครงการ เร่งรัดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาสำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยได้ 2 เท่า รวมถึงมาตรการกระตุ้นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ จากการจัดทำบัญชีนวัตกรรม และการผลักดันนวัตกรรมเป็นวาระแห่งชาติ

การปฏิรูปสู่สังคมนวัตกรรมโดยเฉพาะการสนับสนุนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้นักวิจัยและนักเรียนทุนมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) จัดศูนย์อำนวยความสะดวกใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินการพัฒนากำลังคน ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของเมกะโปรเจกต์ด้านระบบขนส่งทางราง

การปฏิรูปการกระจายโอกาสด้าน วทน. ลงสู่ชุมชน โดยประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อตั้งทีมที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประจำจังหวัด ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ ยังใช้กลไกของรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทำหน้าที่ผู้บริหารงานวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง

สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งชุมชน รวมถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เชื่อมโยงงานวิจัยสมุนไพรในห้องปฏิบัติการ


สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สามารถฉายรังสีส่งออกผลไม้ไทยเปิดตลาดใหม่ไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเพื่อการพัฒนาลู่ลานกรีฑา โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย ศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่-ลานกรีฑา และพัฒนาเทคโนโลยีลู่ - ลานกรีฑาให้ได้มาตรฐานสากล

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนบ้านผักตบชวาไม้ตรา พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยผักตบชวา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและประชาชนที่สนใจเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการถอดรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอบนจีโนมมนุษย์

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) บูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ในพื้นที่ที่เกิดความร้อนสูงบริเวณจุดความร้อน (Hot spot) และนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ดำเนินโครงการ “คืนความสุขให้เธอ..เยาวชน” สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา จัดทำโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า”

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ได้เปิดมิติของการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์ ต้นแบบเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มีความพิการทางสายตา สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ได้ผลิตวัสดุอ้างอิงทางเคมีฝีมือคนไทย

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัดเพื่อให้หน่วยงาน ท้องถิ่นได้มีระบบข้อมูลสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำรวมทั้งผลงานในด้านต่างประเทศ มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย วทน. ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ครอบคลุมใน 14 สาขา

ความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติญี่ปุ่น (GRIPS) สนับสนุนทุนทางด้านพัฒนานโยบาย วทน.ความมือระหว่างสถาบันวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ชั้นสูงระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น กับ สวทช. เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยและพัฒนา แลกเปลี่ยนบุคลากร ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดตั้ง ศูนย์สิรินธรระหว่างประเทศด้านภูมิสารสนเทศ โครงการความร่วมมือไทย - อินเดีย จัดทำแผนที่เส้นทางวัฒนธรรมอาเซียน ความร่วมมือทางด้านดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์กับหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

“ทวงแชมป์ส่งออกข้าวโลกคืนมาได้อีกครั้ง” กระทรวงพาณิชย์ (ในเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี (thaigov.go.th) มีการเผยแพร่ผลงาน 6 เดือน แม้จะมีคิวแถลงในวันที่ 22 เม.ย.นี้)

1. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญในเชิงรุก

1.1 ข้าว

ระบายข้าวในสต็อกผ่านการประมูลทั่วไป รวม 6 ครั้ง และขายข้าวฤดูใหม่ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ 4 สัญญา ปริมาณรวมประมาณ 3 ล้านตัน มูลค่ารวมประมาณ 36,000 ล้านบาท ซึ่งปริมาณข้าวที่ขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศ ประกอบด้วย จีน 4 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 5 แสนตัน และอินโดนีเซียอีก 1.5 แสนตัน และยังมีสัญญาอยู่ระหว่างการเจรจาส่งมอบในระยะต่อไปอีกกว่า 2.6 ล้านตัน ทั้งนี้ มีผลจากการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ทำให้เมื่อสิ้นปี 2557 ยอดส่งออกข้าวทะลุกว่า 10 ล้านตัน สามารถทวงแชมป์ส่งออกข้าวโลกคืนมาได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ มีแผนจะเดินทางไปทวงคืนและขยายตลาดข้าวในอีกหลายประเทศช่วยเหลือเกษตรกร โดยไม่ใช้มาตรการบิดเบือนกลไกตลาด ผ่านการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเอกชนซึ่งมีมาตรการสำคัญ อาทิ มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ทำให้ต้นทุนลดลงโดยเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท มาตรการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อชะลอการขาย มาตรการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าวเปลือก และจัดตลาดนัดรับซื้อจากเกษตรกร ช่วยให้ราคา ณ ท่าข้าว โรงสี ปรับเพิ่มขึ้นตันละ 100 - 800 บาท เป็นต้น ผลของมาตรการดังกล่าวช่วยให้รักษาระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ไว้ที่ราคาตันละ 8,200 - 8,500 บาท และจะดำเนินการต่อไปสำหรับนาปรัง

1.2 สินค้าเกษตรอื่นๆ ได้วางแผนเชิงรุกร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเตรียมรับมือก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่สินค้ามันสำปะหลัง ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และยางพารา

1.3 ผลไม้ ได้กำหนดแผนการระบายผลไม้ไปยังตลาดที่ห่างไกลแหล่งผลิต รวมถึงด่านการค้าชายแดนและการส่งออก โดยจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าผักและผลไม้ไปเยือนอินโดนีเซีย มีการสั่งซื้อผลไม้สดทันทีมูลค่ากว่า 35 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อเพิ่มอีกกว่า 190 ล้านบาท

2. การดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย

2.1 ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์และราคาสินค้าทุกวัน รวมถึงการชั่งตวงวัด เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค และปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย

2.2 จัดงาน “ธงฟ้า” ตามจังหวัดและอำเภอต่างๆ และจัด “ธงฟ้าเคลื่อนที่” ถึงบ้านผู้มีรายได้น้อยตามแหล่งชุมชนทุกจังหวัดเพื่อสร้างทางเลือกให้คนไทยมีสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดกว่าร้อยละ 30 มีการจัดต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 1,000 ครั้ง มูลค่าจำหน่ายกว่า 1,300 ล้านบาท ลดค่าครองชีพได้ถึง 50 ล้านบาท

2.3 โครงการ “เทใจ คืนสุข สู่ประชาชน” โดยร่วมมือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ พร้อมใจกันลดราคาถึงร้อยละ 70

มียอดขายทั้งสิ้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และช่วงเปิดเทอม ระหว่างวันที่ ๓๐ เมษายน ถึง ๑๐ พฤษภาคม ได้จัดทำโครงการ “เทใจ คืนสุข ต้อนรับเปิดเทอม” ร่วมกับห้างและร้านค้าทั่วประเทศเพื่อลดราคาชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นการลดภาระผู้ปกครองห้วงเวลาเปิดเทอม

2.4 โครงการ “หนูณิชย์พาชิม” เป็นการคืนความสุขทุกจานให้แก่ประชาชน โดยคัดสรรร้านอาหารราคาถูก สะอาด ดี และอร่อย ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 2,600 ร้านทั่วประเทศ จำหน่ายจานละ 30 - 35 บาท สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ถึงวันละเกือบ 2.2 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น